สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) แถลงผลสำรวจ "โพลล์คดีบอส เขย่ากระบวนการยุติธรรม"ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กล่าวว่า สิ่งที่คนรู้สึกรับไม่ได้มากที่สุดเกี่ยวกับคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ส่วนหนึ่งคือ คดีนี้ดูเหมือนมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและจากอิทธิพลของกลุ่มนายทุน" นั่นเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่พบจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ซึ่ง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ จัดทำผ่านช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา จากปัญหาในคดีนายวรยุทธ ที่ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจกระบวนการยุติธรรมเป็นวงกว้าง โดยมีประชาชนทั่วประเทศทั้งนี้ทุกกลุ่มอายุร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 4,008 คน ในจำนวนนี้ 2,056 คน มีประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรม โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่เคยเรียนหรือทำงานในด้านที่เกี่ยวข้อง กลุ่มที่เคยเข้าสู่กระบวนการทางคดี เช่นเป็นพยาน ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย และกลุ่มที่มีประสบการณ์ทั้งสองลักษณะ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน แบบสอบถามนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ความรู้สึกและความคาดหวังต่อคดี และความรู้สึกและความคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรม
ส่วนที่ 1 ความรู้สึกและความคาดหวังต่อคดี// เรื่องที่ผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกไม่ดีหรือรับไม่ได้มากที่สุดเกี่ยวกับคดีนี้ มีสองเรื่องในคะแนนใกล้เคียงกัน อันดับหนึ่งคือ การทำสำนวนคดีที่ยืดระยะเวลาออกไปอย่างไม่มีเหตุสมควรจนคดีหมดอายุความ และอันดับสองคือ การที่คดีนี้ดูเหมือนมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและจากอิทธิพลของกลุ่มนายทุนในเรื่องการทำสำนวนล่าช้าที่ประชาชนส่วนใหญ่ยกขึ้นมาตั้งคำถามนั้น TIJ มีข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับระยะเวลาในการดำเนินคดีในฐานความผิด "ขับรถโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย" พบว่าคดีในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีระยะเวลาดำเนินคดีในชั้นตำรวจ 14 วัน โดยคดีที่ทำสำนวนได้รวดเร็วที่สุด ใช้เวลาเพียง 3 วัน และช้าที่สุดอยู่ที่ 284 วัน // ส่วนในชั้นพนักงานอัยการ ตั้งแต่การรับสำนวนถึงมีคำสั่งฟ้อง ส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 8 วัน คดีที่เร็วที่สุดใช้เวลา 1 วัน และช้าที่สุด 344 วัน อีกทั้ง สิ่งที่ผู้ตอบไม่พอใจเป็นอันดับสาม แตกต่างกันระหว่างคนที่มีประสบการณ์กับไม่มีประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรม โดยคนที่มีประสบการณ์จะไม่พอใจกับการมีพยานบุคคลเพิ่มเติมหลังจากผ่านไปหลายปีมาหักล้างความผิดโดยไม่มีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ส่วนคนไม่มีประสบการณ์จะมองเรื่องการพบสารเสพติดในเลือดของผู้ต้องหาแต่ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหา เมื่อถามว่า ในภาพรวมท่านไม่พอใจอะไรมากที่สุดเกี่ยวกับการดำเนินคดีนี้ ผู้ตอบถึงร้อยละ 56.76 ระบุว่าไม่พอใจที่ "กฎหมายไม่ได้ถูกบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาคเพราะกระบวนการยุติธรรมถูกซื้อได้ด้วยเงินและอำนาจ" ส่วนความคาดหวังต่อคดีนี้ หลังจากที่เป็นกระแสสังคมและเริ่มมีการตรวจสอบจากทั้งตำรวจ อัยการ และคณะกรรมการอิสระที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น พบว่า ผู้ตอบกว่าร้อยละ 89 ล้วนคาดหวังให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างละเอียด ต้องมีการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีและดำเนินคดีหากพบว่าร่วมกันบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม ต้องสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่ามีพฤติกรรมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ต้องรื้อสำนวนคดีใหม่และนำคดีเข้าสู่ชั้นศาลทั้งคดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และคดีใช้ยาเสพติด รวมทั้งคาดหวังว่าต้องนำตัวผู้ต้องหากลับมารับโทษให้ได้หากภายหลังศาลตัดสินว่าผิดจริง ผู้ตอบแบบสอบถามนี้ ร้อยละ 94.56 ยังเห็นว่า สังคมควรมีความเคลื่อนไหวต่อคดีนี้ และบอกว่าที่ควรทำเป็นอันดับแรก คือ ร่วมกันต่อต้านการทุจริตในกระบวนการยุติธรรมทุกรูปแบบ รองลงมาคือ ควรเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม สำหรับผู้ตอบส่วนน้อยที่ตอบว่าไม่ควรเคลื่อนไหวอะไร เกือบครึ่งหนึ่งบอกว่าเพราะเคลื่อนไหวเรียกร้องไปก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
ส่วนที่ 2 ความรู้สึกและความคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรม //ส่วนนี้เป็นคำถามเกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมและความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ และศาลยุติธรรม และการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจประเด็นแรกคือ ความเชื่อมั่นที่ผู้ตอบมีต่อกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ก่อนที่จะทราบรายละเอียดความผิดปกติในคดีของนายวรยุทธ ค่าเฉลี่ยของความเชื่อมั่นมีคะแนนอยู่ที่ระดับ 2.40 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน (โดยผู้ตอบส่วนใหญ่ให้คะแนน 2-4 คะแนน) แต่เมื่อทราบรายละเอียดของคดีนี้แล้ว ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของผู้ตอบแบบสอบถาม ลดเหลือเพียง 0.99 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน (โดยมีผู้ตอบถึง 46% ที่ให้เพียง 0 คะแนน) สำหรับข้อคำถามในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ผู้ตอบสามารถที่จะเลือกให้ความเห็นหรือไม่ก็ได้ และมีผู้ให้ความเห็นจำนวนทั้งสิ้น 2,893 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 72.18 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เริ่มที่บทบาทของ "ตำรวจ" ในการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานและทำสำนวนคดี ผลสำรวจระบุว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 57.86 เห็นด้วยว่าเป็นบทบาทที่เหมาะสมแล้ว ที่เหลือร้อยละ 26.48 บอกว่าไม่เหมาะสม และร้อยละ 15.66 ตอบว่าไม่แน่ใจ ส่วนบทบาทของ "อัยการ" ผู้ตอบร้อยละ 73.97 ระบุว่าการถ่วงดุลการทำงานของตำรวจโดยการตรวจสำนวนและใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง นั้นมีความเหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 75.98 ยังบอกว่า อัยการควรมีบทบาทในการสอบสวนและการทำสำนวนมากขึ้น สำหรับบทบาทของ "ศาล" ผู้ตอบร้อยละ 82.27 บอกว่า ศาลควรมีบทบาทมากขึ้นในการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีอาญาทั่วไป เพิ่มเติมจากการพิจารณาตามสำนวนที่ส่งมาเท่านั้น และผู้ตอบร้อยละ 85.48 ยังเห็นว่าการใช้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มาให้การประกอบการพิจารณาคดีควรเป็นผู้เชี่ยวชาญจากบุคคลภายนอกมากกว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม และอีกร้อยละ 82.09 เห็นว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ควรมีน้ำหนักมากกว่าพยานบุคคล ส่วนคำถามที่ว่า คดีนี้สะท้อนปัญหาจากช่องโหว่ของระบบหรือตัวบุคคล ได้ผลสรุปที่น่าสนใจ เพราะมีผู้ตอบเพียงร้อยละ 50.64 ที่เชื่อว่า ระบบงานกระบวนการยุติธรรมดีอยู่แล้ว แต่เกิดปัญหาเพราะผู้ปฏิบัติไม่สุจริตหรือไม่มีประสิทธิภาพ หมายความว่า ผู้ตอบส่วนที่เหลือเห็นว่า ระบบของกระบวนการยุติธรรมน่าจะมีปัญหาด้วย คำถามสำคัญ คือ ท่านคิดว่าคดีนี้น่าจะมีส่วนผลักดันให้คนในกระบวนการยุติธรรมทำงานอย่างโปร่งใสขึ้น และเกิดการปฏิรูประบบงานบางประการในแต่ละหน่วยงาน ผู้ตอบประมาณร้อยละ 50 ตอบว่า "อาจจะเป็นไปได้" ส่วนที่เหลือพบว่า มีผู้ตอบที่มั่นใจว่า "เป็นไปได้" กับผู้ที่ตอบว่า "เป็นไปไม่ได้เลย" อยู่ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม ด้านที่ดูจะมีความหวังคือ ผู้ตอบถึงร้อยละ 74.63 เชื่อมั่นว่าคดีนี้จะทำให้ภาคประชาชนสนใจตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ ร้อยละ 91.05 เห็นว่าควรมีช่องทางให้ประชาชนติดตามขั้นตอนและผลการพิจารณาคดีต่าง ๆ ตามที่สนใจได้อย่างสะดวก แม้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงก็ตาม