svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

สั่งฟาร์มไก่เร่งแก้หลังบ่อน้ำเสียแตกเน่าทั้งคลอง

06 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สั่งฟาร์มไก่บริษัทยักษ์ใหญ่เร่งแก้ไข หลังบ่อน้ำเสียแตกไหลลงห้วย-อ่างห้วยวังโตน ทำเอาน้ำเน่าทั้งสาย ชาวบ้านทนไม่ไหว เร่งจี้นายอำเภอหารือเพื่อแก้น้ำเน่า

(7 สิงหาคม 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี เมื่อเวลา10.00น. โดยเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมานายพิทักษ์ ศรีทอง ปลัดอำเภอ หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม อ.เพ็ญ ได้จัดการประชุมประชาคมแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในอ่างเก็บน้ำห้วยวังโตน และลำห้วยวังโตน ที่เกิดจากคันดินบ่อบำบัดน้ำเสีย ของฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่บริษัทชื่อดัง ทรุดตัวขาดออก ทำให้น้ำเสียไหลทะลักลงแหล่งน้ำสาธารณะณ ห้องประชุม อบต.สุมเส้า อ.เพ็ญ

โดยมี นางทวินตรา ทรงคาศรี นายก อบต.สุมเส้า นายบุญญา ไชยนาพันธ์ ปลัด อบต.สุมเส้า และผู้นำชุมชนในพื้นที่ พร้อมด้วยตัวแทนจากบริษัทเอกชน เข้าร่วมประชุมฯ ก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบการแก้ไขหลังการประชุมฯอีกครั้งโดยเริ่มจากที่ลำห้วยวังโตน บริเวณหลังวัดป่ารวมธรรม ที่เคยมีน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งทางบริษัทฯ แก้ปัญหาด้วยการกั้นลำห้วย สูบน้ำเสียไปรวมกันอยู่ห่างจากวัด 100 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่ไม่มีชาวบ้านอาศัย

ส่วนจุดที่สองเป็นท้ายอ่างฯ จุดที่ปิดกั้นอ่างฯ ไม่ให้น้ำเสียออกจากอ่างฯลงลำห้วย โดยน้ำในอ่างฯสภาพน้ำขุ่นเขียว มีตะไคร่น้ำลอยอยู่ผิวน้ำส่งกลิ่นเหม็น จุดที่สาม บริเวณหลังศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พบคราบน้ำสีเขียวจากบ่อบำบัดน้ำเสีย ไหลผ่านก่อนไปลงไปที่อ่างฯห้วยวังโตน


ขณะที่ นายพิทักษ์ ศรีทอง ปลัดอำเภอเพ็ญ กล่าวว่า กลางเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านร้องเรียนว่าน้ำในลำห้วยวังโตน และในอ่างฯห้วยวังโตน มีสภาพขุ่น มีกลิ่นเหม็น คาดว่าเกิดจากฟาร์มเลี้ยงไก่ของบริษัทเอกชนชื่อดังกล่าว ซึ่งนายณฐพล วิถี นายอำเภอเพ็ญ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยวังโตนและตลอดลำห้วย รวมทั้งตรวจสอบในพื้นที่ฟาร์ม มีการเก็บตัวอย่างน้ำไว้ในครั้งนั้น โดยขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตรวจสอบ

"จนวันที่ 2 ส.ค. เวลา14.00 น. หลังฝนตกหนัก จากอิทธิพลพายุชินลากู ได้รับแจ้งว่า คันดินบ่อบำบัดบัดน้ำเสีย ของฟาร์มไก่ไข่เกิดการทรุดตัว มีน้ำเสียไหลออกจากบ่อ มานอกพื้นที่ผ่านพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน และไหลลงไปปนเปื้อนในห้วยวังโตนและอ่างฯห้วยวังโตน และเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ได้ลงตรวจสอบอีกครั้ง บริษัทฯยอมรับว่า มีน้ำเสียไหลออกนอกพื้นที่จริง และได้นำเครื่องจักรขุดดินบริเวณใกล้เคียง ขึ้นมากั้นน้ำเสียเอาไว้ ตั้งแต่เกิดเหตุ โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง บ่อมีขนาด 40,000 ลบ.ม. น้ำเสียไหลออกราว 10,000 ลบ.ม." นายพิทักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นได้สั่งการให้บริษัทแก้ไข 3 ข้อ คือ 1.ให้ทำการเสริมคันดินให้ได้มีมาตรฐาน จากเดิมกว้าง 2 เมตร เป็น 4 เมตร และต้องบดอัดดินแน่น 2.ปิดกั้นฝายท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยวังโตน ที่เป็นต้นน้ำของลำห้วยวังโตน ระยะทาง 500 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเสียไหลไปสร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านใกล้เคียง และ 3.สูบน้ำเสียออกจากจากลำห้วยวังโตน บริเวณจุดหลังวัดป่ารวมธรรมออก ซึ่งได้สั่งการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ จึงเป็นได้เชิญตัวแทนทุกฝ่ายมาร่วมพูดคุยหาทางแก้ไขร่วมกัน




ด้าน นายเฉลิมพล ก๊อกพิมพ์ ส.อบต.สุมเส้า กล่าวว่า บ้านพักอาศัยอยู่ที่บ้านห้วยวังโตน พื้นที่เดียวกับฟาร์มไก่และอ่างฯ เดิมฟาร์มไก่เป็นของนายทุนรายอื่น แต่บริษัทเอกชนชื่อดังเข้ามาซื้อกิจการและดำเนินการได้ 3 ปี ก่อนหน้าไม่เคยมีปัญหาน้ำเน่าเสีย เพิ่งจะมีปัญหาช่วงปีที่แล้ว และเกิดปัญหาหนักในปีนี้

"สัตว์น้ำในอ่างและลำห้วยตายหมด น้ำขุ่นเน่าเหม็นเป็นสีดำมีฟอง ชาวบ้านจับสัตว์น้ำไม่ได้ 2 ปี รวมถึงชาวบ้านท้ายลำห้วย ม.10 ม.12 ที่เคยใช้นำผลิตน้ำประปาก็นำมาใช้ไม่ได้ แต่ทางฟาร์มได้ขุดเจาะน้ำบาดาลทดแทนให้เมื่อปีที่แล้ว ยอมรับว่าเดือดร้อน แต่ก็อยากให้ฟาร์มและชาวบ้านอยู่ร่วมกันให้ได้ เพราะฟาร์มเองก็คอยช่วยเหลือชาวบ้านอยู่ตลอด ลูกหลานก็ได้ทำงานกันที่นี่ แต่ก็ต้องแก้ไขให้ยั่งยืน ไม่ส่งผลต่ออนาคตข้างหน้า" นายเฉลิมพล กล่าว

นางทวินตรา กล่าวว่า มติวันนี้จะดำเนินการแก้ไขในช่วงฝนนี้ให้เสร็จก่อนน้ำแล้ง โดยใช้เครื่องจักรของ อบต. ของเอกชน และของชาวบ้านในพื้นที่ ให้ฟาร์มช่วยค่าน้ำมันค่าแรง ฟาร์มอยู่ได้ชาวบ้านก็ต้องอยู่ได้ กั้นลำห้วยเอาไว้เป็นช่วงสูบน้ำเสียออกครั้งละ 60% ให้น้ำฝนหรือจากแหล่งน้ำอื่นช่วยเจือจาง ส่วนเรื่องผิวดินเรื่องตะกอนจากการสำรวจพบว่า มีการตกค้างพอสมควร หน้าแล้งจะต้องขุดลอกตากดินหรือแก้ไขตามวิชาการอื่นๆ ก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับฟาร์มโยนก้อนจุลินทรีย์บอลปรับปรุงคุณภาพน้ำมาแล้ว ตรงนี้ฟาร์มต้องเข้ามาดูแลอีกครั้งในระยะต่อไป น้ำในฟาร์มจะเป็นน้ำดีหรือน้ำเสีย ก็ต้องแก้ไขไม่ให้ไหลลงลำห้วยอีก

logoline