svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทดสอบยาสีฟันอันตรายด้วยการ "ถูกล่อง" เชื่อได้จริงหรือ

23 กรกฎาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากกรณีที่เริ่มมีการแชร์กันในโลกออนไลน์ว่า มียาสีฟันบางยี่ห้ออาจทำอันตรายต่อฟัน เพราะทดลองนำมาถูบริเวณกล่องพบว่าสีบนกล่องละลาย ล่าสุด "อ.เจษฎ์" ออกมาเฉลยคำตอบแล้วว่าวิธีทดสอบแบบนี้เชื่อถือได้จริงหรือไม่

โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาอธิบายผ่านเพจ "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" มีรายละเอียดดังนี้...
"ยาสีฟัน ถูกล่องสีลอกได้ ไม่แปลกอะไรครับ"
มีคลิปทดสอบยาสีฟันยี่ห้อหนึ่ง ด้วยการเอายาสีฟันมาทาๆ ถูๆ ลงไปบนกล่อง เทียบกับยาสีฟันยี่ห้อดังๆ ยี่ห้ออื่น ... พบว่า ยาสีฟันเจ้าแรกนั้น ไม่ได้ทำให้สีบนกล่องลอกเลือนไป แต่ยาสีฟันยี่ห้ออื่นๆ นั้นทำให้สีบนกล่องถูกขัดถูออกมา
ปัญหาคือ เสียงบรรยายในคลิปนี้ บอกว่าที่ผลเป็นเช่นนี้ เพราะยาสีฟันยี่ห้ออื่นๆ นั้นใส่แอลกอฮอล์ลงไป เลยไปละลายสีบนกล่อง ขณะที่ยาสีฟันของตนไม่มีแอลกอฮอล์ จึงไม่ละลายสี และดีต่อสุขภาพฟัน ไม่ทำลายเคลือบฟัน ฯลฯ !?!?
จริงๆ เทคนิคทดสอบยาสีฟันแบบนี้มีใช้กันมานานแล้ว กับสินค้าขายตรงชื่อดังเจ้าหนึ่ง แต่เค้าไม่ได้อธิบายว่า "เป็นเพราะมี หรือไม่มี แอลกอฮอล์ อยู่ในยาสีฟัน" เพราะยาสีฟันปรกติแล้ว ทุกๆ ยี่ห้อ ไม่ได้ใส่แอลกอฮออล์อยู่แล้ว
แต่ที่ทำให้สีของกล่องถูกขัดถูให้ลอกเลือนได้นั้น เป็นผลจากพวกสารขัดฟันที่แต่ละยี่ห้อใช้ต่างหาก ซึ่งแม้จะทำให้สีลอก แต่ยาสีฟันที่ได้มาตรฐานในการผลิตจะมีปริมาณของสารขัดฟันในเกณฑ์ที่เหมาะสมอยู่แล้ว ไม่ได้มากเกินไปจะทำลายคราบฟันอย่างที่กลัวกัน (กลับข้าง คือ ถ้าน้อยเกินไป ก็อาจจะทำให้ฟันไม่สะอาดเพียงพอเสียด้วยซ้ำ)
ดูองค์ประกอบของสารที่อยู่ในยาสีฟันทั่วไป ได้ด้านล่างนี้ครับ-----------------

ส่วนประกอบของยาสีฟัน
1. สารประกอบที่ให้ฟลูออไรด์ เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ เช่น โซเดียม โมโนฟลูออโรฟอสเฟต (Sodium monofluorophosphate) , โซเดียม ฟลูออไรด์ (Sodium fluoride) , แสตนนัสฟลูออไรด์ (Stannous fluoride)
2. สารขัดฟัน (Abrasives) ช่วยกำจัดรอยเปื้อนและคราบหินปูน โดยทั่วไปนิยมใช้สารที่มีลักษณะเป็นผงละเอียด ยาสีฟันควรมีสารขัดฟันมากพอที่จะกำจัดรอยเปื้อนและคราบหินปูน แต่ถ้าใช้มากเกินไปก็อาจจะทำลายเคลือบฟันของเราได้ สารขัดฟันที่ใช้กันได้แก่ แคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate) อะลูมินา (Alumina), แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) ซิลิกอนไดออกไซด์ (Silicon dioxide) แคลเซียม โมโนไฮโดรเจนฟอสเฟต (Calcium monohydrogenphosphate) แคลเซียม โมโนไฮโดรเจนฟอสเฟต ไดไฮเดรต (Calcium monohydrogenphosphate dihydrate) เตตระโซเดียม ไพโรฟอสเฟต (Tetrasodium pyrophosphate) ไฮเดรต ซิลิกา (Hydrated Silica) ไมก้า (Mica)
3. สารลดแรงตึงผิว ที่มีประจุลบ ( Anionic Surfactant ) เช่น โซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate, SLS ) หรือ สารลดแรงตึงผิว ที่ไม่มีประจุ ( Nonionic Surfactant ) ช่วยทำให้เกิดฟองและไม่ทำให้ยาสีฟันไหลออกจากปากขณะแปรงฟัน
4. สารรักษาสภาพความเปียกชื้น (Humectants) ช่วยทำให้ยาสีฟันมีรสสัมผัสของความชื้นไม่แห้ง สารที่ใช้ เช่น กลีเซอรอล (Glycerol),ซอร์บิทอล (Sorbitol), โพรพิลีน ไกลคอล (Propylene glycol) , พอลิเอทิลีน ไกลคอล (Polyethylene glycol)


5. สารกันเสีย (Preservatives) ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในยาสีฟัน ผสมอยู่ในยาสีฟันในปริมาณน้อย แต่ก็อาจมีผลต่อผิวหนังทำให้แพ้ได้
6. สารแต่งกลิ่นรส ( Flavors ) เช่น กลิ่นรส Mint , Peppermint , Spearmint , Anise , Apricot , Banana , Bubblegum , Cherry , Cinnamon , Fennel , Ginger , Lavender , Lemon , Orange , Pine , Pineapple , Strawberry , Raspberry , Vanilla
7. ส่วนประกอบ / สารปรับปรุงคุณสมบัติ อื่นๆ ( Other Ingredients / Additives ) เช่น สารให้รสหวาน ( Sweeteners ) เช่น ซอร์บิทอล (Sorbitol) , ไซลิทอล (Xylitol), โซเดียม ซัคคาริน (Sodium Saccharin) สารลดการเสียวฟัน เช่น โปแตสเซียมไนเตรต (Potassium nitrate) , สทรอนเตียม คลอไรด์ (Strontium chloride) สารช่วยซ่อมแซมเคลือบฟันและเนื้อฟัน เช่น Synthetic Hydroxyapatite Nanocrystal , แคลเซียม ไดฟอสเฟต (Calcium diphosphate) สารต่อต้านแบคทีเรีย ( Antibacterial ) เช่น ไตรโคลซาน (Triclosan), ซิงค์ คลอไรด์ (Zinc chloride)

logoline