svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

แฉคดีบุก"บ้านป๋า"อัยการเคยสั่งไม่ฟ้อง

26 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คดีบุกบ้านป๋าเปรมที่ทั้งศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา พิพากษาตรงกันทั้ง 3 ศาล ว่าแกนนำ นปช. ซึ่งสมัยนั้นยังเรียกตัวเองว่า "นปก." หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ มีความผิดจริง จึงสั่งลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากเป็นการจัดชุมนุมที่ไม่ได้เป็นการ "ชุมนุมโดยสงบ" แต่เป็นการจงใจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ซึ่งถือเป็นเหตุร้ายแรง จึงไม่เมตตาลงโทษสถานเบาตามที่ร้องขอ แม้จะมากลับคำให้การเป็นรับสารภาพผิดในภายหลังนั้น

จริงๆ แล้วคดีนี้หากท้าวย้อนกลับไปเมื่อปี 52 จะพบความจริงที่ไม่น่าเชื่อว่า อัยการเคยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องแกนนำ นปช.ทั้งหมดมาแล้ว โดยมีคำสั่งฟ้องเพียงผู้ร่วมชุมนุมโนเนมแค่ 2 คนเท่านั้น
วันที่ 27 มี.ค. 2552 หรือเมื่อ 11 ปีก่อน นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญาในขณะนั้น เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีแกนนำ นปช.บุกบ้านป๋าเปรมว่า คณะทำงานอัยการได้พิจารณาสำนวนหลักฐานและข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็น "สั่งไม่ฟ้อง" โดยให้เหตุผลว่า ลักษณะการชุมนุมเป็นไปอย่างเปิดเผย ไม่มีอาวุธ ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเหตุผลของอัยการ ตรงข้ามกับศาลที่ตัดสินในภายหลังทั้ง 3 ศาลอย่างสิ้นเชิง
โดยผู้ต้องหาในคดีนี้มี 15 คน ซึ่งนอกจาก 4 แกนนำที่ติดคุกวันนี้แล้ว ยังมี จักรภพ เพ็ญแข จรัล ดิษฐาอภิชัย และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตแกนนำที่หลบหนีออกนอกประเทศด้วย โดยในส่วนของ พ.อ.อภิวันท์ เสียชีวิตไปแล้ว แต่อัยการกลับมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ชุมนุมโนเนม 2 คน และที่เหลือ 13 คน สั่งไม่ฟ้องทั้งหมด
ความเห็นของอัยการในครั้งนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง มิหนำซ้ำหลังจากมีคำสั่ง ทางอัยการก็ไม่ได้แถลงข่าวต่อสาธารณชน แต่เก็บเรื่องเงียบไว้ กระทั่ง "เสี่ยเต้น" ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ให้สัมภาษณ์บอกกกับสังคม จึงได้ทราบว่าคดีนี้อัยการสั่งไม่ฟ้อง

ตามขั้นตอนเมื่ออัยการมีความเห็นแตกต่างจากตำรวจ ต้องส่งสำนวนกลับไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีความเห็นสั่งฟ้องตั้งแต่แรก โดยหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน คือ พล.ต.ท.เจตน์ มงคลหัตถี นายตำรวจมือสอบสวนคนดังต่อมาวันที่ 22 ก.ค. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ขณะนั้น ได้ทำความเห็นแย้งอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา โดยยืนยันสั่งฟ้อง ทำให้ต้องส่งสำนวนไปให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาด
อัยการสูงสุดในขณะนั้น คือ นายชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งปัจจุบันเป็นแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้พิจารณาสำนวนแล้ว มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด ในวันที่ 31 ก.ค. คดีจึงถูกนำขึ้นสู่ศาล กระทั่งศาลพิพากษาจำคุกแกนนำ นปช. ทั้ง 3 ศาล และต้องเข้าคุกจริง เพราะศาลไม่รอลงอาญา ในการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ ได้ยกเว้นกลุ่มที่หนีไปต่างประเทศและเสียชีวิต
อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า ช่วงที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีบุกบ้านป๋าเปรมในตอนแรก แกนนำ นปช. บางส่วน ได้ฟ้องกลับนายตำรวจระดับสูงบางนาย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยตำรวจที่ถูกฟ้องเป็น "นายตำรวจราชสำนักประจำ" หรือ นรป. ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงอิทธิพลของ "ระบอบทักษิณ" ที่ส่งผลถึงคดีนี้ และการฟ้องกลับนายตำรวจใหญ่

logoline