svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ยาสีฟัน "ดาร์ลี่" ยกเครื่องแบรนด์ใหม่ท่ามกลางกระแสต้านเหยียดผิว

20 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้คดีฆาตกรรมจอร์จ ฟลอยด์จะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ แต่กระแสต่อต้านการเหยียดผิวก็ได้ขยายวงไปทั่วโลก และยังทำให้หลายธุรกิจต้องหันกลับมาทบทวนแบรนด์ของตัวเองด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ "ยาสีฟันดาร์ลี่" ที่มีตลาดหลักอยู่ในเอเชีย และเป็นแบรนด์ที่คนไทยรู้จักมานานกว่า 50 ปี

คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ เจ้าของปัจจุบันของยาสีฟันดาร์ลี่ร่วมกับหุ้นส่วน คือ บริษัท ฮอว์ลี แอนด์ เฮเซล ระบุว่า ทางบริษัทได้พัฒนาแบรนด์อย่างต่อเนื่องมานานกว่า 35 ปีแล้ว ทั้งการเปลี่ยนชื่อแบรนด์ โลโก้ และบรรจุภัณฑ์ โดยในขณะนี้ทางบริษัทกำลังร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อพิจารณาทบทวนและพัฒนาแบรนด์ให้ดียิ่งขึ้นในทุกแง่มุม รวมถึงเรื่องชื่อของแบรนด์ด้วย

ยาสีฟันดาร์ลี่มีต้นกำเนิดในนครเซี่ยงไฮ้ของจีนในปี 2476 หรือเมื่อกว่า 80 ปีมาแล้ว โดยบริษัท ฮอว์ลี แอนด์ เฮเซล ก่อนที่จะย้ายฐานมายังไต้หวันและฮ่องกง จากนั้นในปี 2528 บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟของสหรัฐฯ จึงเข้ามาซื้อหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์ ด้วยมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์

ยาสีฟัน "ดาร์ลี่" ยกเครื่องแบรนด์ใหม่ท่ามกลางกระแสต้านเหยียดผิว

เดิมทียาสีฟันมีชื่อยี่ห้อว่า "ดาร์กี้" ซึ่งเป็นคำในเชิงดูถูกที่คนผิวขาวใช้เรียกคนผิวสี จนกระทั่งเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว จึงเปลี่ยนมาเป็น "ดาร์ลี่" หลังจากถูกกดดันโดยผู้ถือหุ้น ส่วนโลโก้ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากเดิมที่เป็นภาพคล้ายกับคนผิวขาวทาหน้าดำกำลังฉีกยิ้มและทำตาเบิกโพลง

ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากอัล จอลสัน นักแสดงผิวขาวเจ้าของฉายา "ราชาตลกหน้าดำ" มาเป็นภาพของชายที่ไม่สามารถระบุสีผิวได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามชื่อของแบรนด์ในภาษาจีนก็ยังคงแปลตรงตัวว่า "ยาสีฟันคนดำ" มาจนถึงปัจจุบัน

ยาสีฟัน "ดาร์ลี่" ยกเครื่องแบรนด์ใหม่ท่ามกลางกระแสต้านเหยียดผิว


สำนักข่าวในฮ่องกงรายงานว่า คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ ได้ลบการอ้างอิงถึงแบรนด์ดาร์ลี่ในเว็บไซต์ของบริษัท แต่ในขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งโครงการเพื่อส่งเสริมภาวะผู้นำในกลุ่มพลเมืองแอฟริกันอเมริกันและมีการจัดแคมเปญเนื่องในช่วงเดือนแห่งประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันหรือ Black History Month ซึ่งตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีด้วย
ปัจจุบันดาร์ลี่มีตลาดหลักอยู่ในเอเชีย โดยมีรายงานว่าครองส่วนแบ่งตลาด 17% ในจีน 21% ในสิงคโปร์ 28% ในมาเลเซีย และ 25% ในไต้หวัน ส่วนในประเทศไทยอยู่ที่กว่า 50% ในตลาดยาสีฟันเพื่อลมหายใจสดชื่น

ยาสีฟัน "ดาร์ลี่" ยกเครื่องแบรนด์ใหม่ท่ามกลางกระแสต้านเหยียดผิว



นอกจากดาร์ลี่แล้ว บริษัทอื่นๆ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ก็กำลังพิจารณาเปลี่ยนแบรนด์ของตัวเองที่อาจถูกเชื่อมโยงกับการเหยียดผิวเช่นกัน อย่างเช่น Aunt Jemima แบรนด์น้ำเชื่อมราดแพนเค้กที่มีมานานกว่า 130 ปี และ Uncle Ben's แบรนด์ข้าวกึ่งสำเร็จรูปที่ก่อตั้งมานานกว่า 70 ปี ซึ่งทั้งสองแบรนด์มีโลโก้เป็นภาพของคนผิวสีเหมือนกัน

logoline