svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คืน 21-22 ตุลาคมนี้ ชวนถ่ายภาพฝนดาวตก "โอไรโอนิดส์"

15 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในคืนวันที่ 21 ตุลาคมนี้ จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. เป็นต้นไปจนถึงเวลา 01.00 น.

โดยมีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก โดยคืนดังกล่าวช่วงหลังตี 1 ไปแล้วจะมีแสงดวงจันทร์รบกวน อย่างไรก็ตามช่วงเวลา 2 ชั่วโมงดังกล่าว ก็อาจพอลุ้นได้ดาวตกกันบ้าง
ความน่าสนใจของฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ 
ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) ที่หลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจรขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี 2529 แรงโน้มถ่วงของโลกจึงดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุดังกล่าวเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาบริเวณกลุ่มดาวนายพราน มีสีเหลืองและเขียว สวยงามพาดผ่านท้องฟ้า

หากเราโชคดีเราอาจได้ภาพไฟล์บอลลูกใหญ่ๆ เขียวๆ ติดมาในภาพได้ ซึ่งนอกจากโอกาสที่อาจได้เห็นฝนดาวตกลูกใหญ่ๆแล้ว บริเวณกลุ่มดาวนายพรานยังมีดาวฤกษ์ที่สว่างเด่นอีกหลายดวง เช่น ดาวบีเทลจุส (ที่มีสีส้มเหลือง) และดาวไรเจล (สีฟ้าขาว) ที่โดดเด่นอีกด้วย รวมทั้งกลุ่มดาวหมาใหญ่ที่มีดาวฤกษ์สว่างที่สุดบนท้องฟ้า ซีรีอุส ในตำแหน่งใกล้กันอีกด้วย ทำให้เราอาจได้ภาพดาวตกที่เคียงคู่กลุ่มดาวที่สวยงามอันดับต้นๆ ของท้องฟ้าก็เป็นได้

โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการสังเกตฝนดาวตก คือหลังเที่ยงคืน เพราะเป็นเวลาที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ 


ซึ่งช่วงเวลาที่ดาวตกเกิดก่อนเที่ยงคืน หรือช่วงหัวค่ำนั้นจะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งสวนทางการหมุนรอบตัวเองของโลก เราจะเห็นดาวตกมีความเร็วสูง แต่ถ้าฝนดาวตกที่เกิดหลังเที่ยงคืนไปแล้วหรือในเวลาใกล้รุ่ง จะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก 


เราจึงเห็นดาวตกที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้รุ่งนั้นวิ่งช้า ซึ่งช่วงที่เราจะพอสามารถถ่ายภาพฝนดาวตกในปีนี้ ก็อยู่ในช่วงเที่ยงคืนพอดี นั่นหมายถึงเรายังพอลุ้นได้ภาพดาวตกหางยาวๆ หัวใหญ่ๆ กันได้เช่นครับ




ที่มาข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

logoline