svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

จุดจบกาแล็กซีทางช้างเผือก จ่อชนกับ​กาแล็กซีแอนโดรเมดา อีกไม่กี่พันล้านปีข้างหน้า​

23 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักดาราศาสตร์ ชี้ จุดจบกาแล็กซีทางช้างเผือก จ่อชนกับกาแล็กซีแอนโดรเมดา อีกไม่กี่พันล้านปีข้างหน้า ผลจากการชนกันจะทำให้หลุมดำที่อยู่ใจกลางหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูงขึ้น เกิดเป็นวัตถุที่รู้จักกันในชื่อ "เควซาร์"

22 ส.ค. 62 - สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติโพสต์ เฟสบุ๊ค หัวข้อ "กาแล็กซีมีจุดจบอย่างไร?"  มีเนื้อหาดังนี้    "อีกหนึ่งคำถามยิ่งใหญ่ที่นักดาราศาสตร์เฝ้าค้นหาคำตอบมาจนถึงปัจจุบัน พวกเขาศึกษากาแล็กซีที่ดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันได้ แต่วินาทีที่พวกมันกำลังจะดับสิ้นลงหรือตายจากไปนั้น ยังไม่มีใครสามารถบันทึกภาพหรือมีข้อมูลได้เลย จนกระทั่งวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา อัลลิสัน เคิร์กแพททริก ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์มหาวิทยาลัยแคนซัส ได้เสนอวิธีการถ่ายภาพวัตถุที่เรียนว่า "เควซาร์เย็น" (Cold Quasars) เพื่อบันทึกเหตุการณ์ขณะที่กาแล็กซีกำลังจะตาย ในการประชุมประจำปีของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกา (The American Astronomical Society) ณ เมืองเซนต์หลุยส์

อีกไม่กี่พันล้านปีข้างหน้า กาแล็กซีทางช้างเผือกของพวกเราจะเผชิญหน้ากับจุดจบ ชนกับกาแล็กซีแอนโดรเมดาซึ่งเป็นกาแล็กซีเพื่อนบ้านของเรา ผลจากการชนกันจะทำให้หลุมดำที่อยู่ใจกลางหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูงขึ้น กลุ่มแก๊สและฝุ่นบริเวณรอบ ๆ จะหมุนวนรอบหลุมดำเป็นลักษณะคล้ายแผ่นดิสก์ด้วยความเร็วสูงตาม พร้อมทั้งปลดปล่อยลำอนุภาคพลังงานสูงออกมาจากใจกลาง เกิดเป็นวัตถุเรารู้จักกันในชื่อ "เควซาร์" ซึ่งวัตถุดังกล่าวมีแนวโน้มจะผลักกลุ่มแก๊สและฝุ่นรอบ ๆ ออกไปไกลมากจนอาจทำให้มีวัตถุดิบไม่เพียงพอที่จะสร้างดาวฤกษ์ขึ้นอีกได้ ตามทฤษฎีแล้ว นักดาราศาสตร์นิยามเหตุการณ์ข้างต้นว่ากาแล็กซีที่จบชีวิตลงแล้ว หากเรามีอายุยืนยาวถึงพันล้านปี บนโลกที่อยู่ห่างไกลจากใจกลางกาแล็กซี เราจะสามารถสังเกตเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้าคล้ายดาวฤกษ์


อัลลิสัน เคิร์กแพททริก เสนอเควซาร์เย็นที่เขาตรวจจับได้ทั้งหมด 22 วัตถุ ซึ่งวัตถุเหล่านี้มีความสว่างมากเพียงพอที่จะเป็นจุดจบของกาแล็กซีได้แล้ว แต่ยังคงมีกลุ่มแก๊สและฝุ่นเย็นหลงเหลือพอที่จะสร้างดาวฤกษ์ดวงใหม่ เรียกได้ว่าเป็นสถานะก้ำกึ่งระหว่างการเกิดใหม่กับการตายของกาแล็กซี ซึ่งถ้าเราศึกษาช่วงชีวิตนี้ของกาแล็กซีอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เรามีข้อมูลพอที่จะสร้างแผนภาพทำนายชีวิตของกาแล็กซีได้อย่างแน่นอน

การค้นพบนี้เกิดขึ้นระหว่างสำรวจวัตถุที่มีความสว่างมากที่สุดบนท้องฟ้า ส่วนใหญ่จะตรวจสอบคลื่นเอ็กซ์เรย์จากลำอนุภาคที่หลุมดำปลดปล่อยออกมา หากมีความเร็วใกล้เคียงกับแสง นั้นหมายความว่าต้องเป็นวัตถุที่มีพลังงานสูงมากอย่างเควซาร์แน่นอน แต่เคิร์กแพททริกเลือกที่จะใช้ช่วงคลื่นอินฟาเรดในการศึกษาเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความรุนแรงสูงอย่างใจกลางกาแล็กซี ซึ่งอินฟาเรดเป็นช่วงคลื่นที่สามารถตรวจจับฝุ่นและแก๊สเย็นได้ 

จากนั้นเขานำกลุ่มฝุ่นและแก๊สเย็นมาคำนวณหาความเร็วขณะที่พวกมันถูกผลักออกห่างจากกาแล็กซี เพื่อศึกษาว่ากาแล็กซีนั้นจะอยู่ในช่วงที่เขาเรียกว่าเควซาร์เย็นได้นานเพียงใด หากเขาทำได้สำเร็จ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทำให้เราทราบความเป็นมาของกาแล็กซีได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

วัตถุท้องฟ้า ทั้งดาวฤกษ์ กระจุกดาว รวมถึงกาแล็กซี มีช่วงชีวิตยาวนานกว่ามนุษย์เรามาก เราไม่สามารถศึกษาวัตถุดังกล่าวได้ในหนึ่งช่วงชีวิตของเรา ดังนั้น การศึกษาวัตถุท้องฟ้าในช่วงชีวิตต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุดแล้วนำมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้นักดาราศาสตร์รู้ได้ว่าวัตถุเหล่านั้นเกิดมาจากอะไร และจะดำเนินต่อไปอย่างไร"

อ้างอิง : https://www.washingtonpost.com/science/2019/06/13/this-is-what-it-looks-like-when-galaxies-are-about-die/?utm_term=.b81e031691e0

เรียบเรียง : ฟ้าประกาย เจียรคุปต์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

คลิปวีดีโอการประชุมประจำปีของสมาคมดาราศาสตร์อเมริกา https://www.youtube.com/watch?v=bNdscedDCnQ&feature=youtu.be

logoline