svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

แกะรอย "รัฐบาลแห่งชาติ"

15 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ข้อเสนอ "รัฐบาลแห่งชาติ" เพื่อผ่าทางตันการเมืองไทย ถูกเสนอขึ้นมาอีกครั้งช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ แม้จะยังไม่ได้รับการขานรับจากบรรดาแกนนำพรรคการเมืองใหญ่ก็ตาม แต่ก็ทำให้พอมองเห็นร่องรอยของความพยายามหาทางออกทางการเมืองที่อึมครึมอยู่ในขณะนี้

สถานการณ์การเมืองที่หลายคนเชื่อว่ากำลังเดินเข้าสู่ทางตัน ก็คือเสียงสนับสนุนของขั้วพรรคเพื่อไทย กับขั้วพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นสองพรรคการเมืองใหญ่ที่ได้จำนวน ส.ส.เขต และป๊อปปูลาร์โหวตสูงที่สุด ถึงวันนี้ยังคงก้ำกึ่งกันอย่างมาก แม้แต่ละฝ่ายจะอ้างว่าได้เสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง คือ 250 เสียงแล้ว แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้
นอกจากนั้นยังมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันเรื่องวิธีการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าสุดท้ายเมื่อ กกต.เลือกสูตรคำนวณและคิดตัวเลขออกมา จะมีฝ่ายการเมืองที่เสียประโยชน์ออกมาคัดค้านไม่เลิกเหตุนี้เอง ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช เทพไท เสนพงศ์ จึงเสนอให้ตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" ขึ้นมาผ่าทางตันทางการเมือง โดยรัฐบาลนี้จะมี "คนกลาง" มาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีภารกิจสำคัญ 2 อย่าง คือ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ และแก้รัฐธรรมนูญ มีอายุไม่เกิน 2 ปี จากนั้นจัดการเลือกตั้งใหม่ด้วยกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ
แต่จริงๆ แล้วแนวคิด "รัฐบาลแห่งชาติ" ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะตั้งแต่ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งฯเป็นต้นมา ก็มีข้อเสนอนี้ถูกจุดพลุขึ้นมาหลายครั้ง เช่น ในช่วงที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯแบบ "บิ๊กเซอร์ไพรส์" ก็มีการพูดถึงสูตรรัฐบาลแห่งชาติ สอดคล้องกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้นที่ไม่มีใครเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริง ก็มีการพูดถึง "รัฐบาลแห่งชาติ" อย่างหนาหู
กระทั่งช่วงหลังเลือกตั้ง ก่อนสงกรานต์ราวๆ 1 สัปดาห์ ก็มีข่าว "พ่อใหญ่จิ๋ว" พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เชิญแกนนำพรรคการเมืองที่สนับสนุนขั้วเพื่อไทย เข้าหารือที่บ้าน พร้อมแจ้งสัญญาณ "รัฐบาลแห่งชาติ" โดยอ้างว่าไปพูดคุยกับ "ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง" มาแล้ว แต่แกนนำพรรคที่ไปร่วมพูดคุยในช่วงนั้นยังไม่ปักใจเชื่อ กระทั่งมากลายเป็นข้อเสนอจากขุนพลประชาธิปัตย์อย่าง เทพไท เสนพงศ์ อีกทอดหนึ่ง
เบื้องต้นแม้จะมีบางพรรคออกมาปฏิเสธแล้ว เช่น แกนนำพรรคพลังประชารัฐอย่าง สมศักดิ์ เทพสุทิน แต่หากสถานการณ์บังคับในอนาคตอันใกล้ ทุกอย่างก็มีความเป็นไปได้

ในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ / สิ่งที่เรียกว่า "รัฐบาลแห่งชาติ" หรือ "รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ" คือรัฐบาลที่ทุกพรรคการเมืองมาร่วมกันบริหารประเทศโดยไม่มีฝ่ายค้าน / ระยะเวลาการบริหารอาจจะสั้นหรือยาวก็ได้ ขึ้นกับสถานการณ์ หากบริหารแค่ระยะเปลี่ยนผ่านสั้นๆ ก็อาจเรียกว่า "รัฐบาลเฉพาะกาล" ก็ได้
องค์ประกอบสำคัญของ "รัฐบาลแห่งชาติ" คือพรรคการเมืองทุกพรรคหรือเกือบทุกพรรครวมตัวกันเป็นรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศร่วมกัน โดยหา "คนกลาง" ที่ทุกพรรคยอมรับร่วมกันมาเป็นผู้นำประเทศชั่วคราว / โมเดล "รัฐบาลแห่งชาติ" มีทั้งที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤติ เช่น เกิดสงครามขนาดใหญ่ จึงพักการแข่งขันทางการเมืองเอาไว้ก่อน แล้วตั้งรัฐบาลร่วมกันเพื่อบริหารประเทศ / หรือสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง / การตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" ก็ช่วยได้ในหลายประเทศ
นอกจากนั้นยังมี "รัฐบาลแห่งชาติ" ที่เกิดจากผลของรัฐธรรมนูญ เช่น ในบางประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา / รัฐธรรมนูญจะเขียนบังคับให้การตั้งรัฐบาลต้องใช้เสียงข้างมากเป็นพิเศษ เพื่อดึงพรรคการเมืองที่เป็นพรรคเชื้อชาติเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด / ป้องกันความแตกแยก / รัฐบาลแห่งชาติแบบนี้ เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของเบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์
สำหรับในบ้านเรา นักรัฐศาลตร์หลายคนยืนยันตรงกันว่า ยังไม่เคยมี "รัฐบาลแห่งชาติ" แม้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ยกร่างโดย อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อปี 58 จะเปิดทางเอาไว้ให้มีรัฐบาลที่มาจาก "เสียงข้างมากพิเศษ" เพื่อผ่าทางตันทางการเมืองก็ตาม / แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นถูกตีตก จึงยังไม่มีโมเดล "รัฐบาลแห่งชาติ" ในเมืองไทย
ส่วนสถานการณ์การเมืองในปี 62 จะนำไปสู่ "รัฐบาลแห่งชาติ" ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไป

logoline