svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ระเบียบอัยการใหม่ ให้อัยการสูงสุดมีอำนาจโดยตรง สั่งคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

28 มิถุนายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบายระเบียบใหม่ปี 2561 เพิ่มประเด็นอำนาจไม่ฟ้อง-ถอนฟ้อง โดยอ้างอิงปัจจัย พิจารณาเรื่องกระทบความมั่นคง และสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.61 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวอธิบายกรณีที่ มีการประกาศ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2561 ที่ลงนามโดยนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุดลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อ วันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ระเบียบฯ ที่ประกาศใช้นั้น เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบฯ ฉบับเดิม ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2554 โดยเป็นการเพิ่มปัจจัยที่นำมาในการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ซึ่งเพิ่มเติมในเรื่อง เหตุผลตามความเห็นของนายกรัฐมนตรี หรือหน่วยงานอื่นถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของพระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์


ระเบียบอัยการใหม่ ให้อัยการสูงสุดมีอำนาจโดยตรง สั่งคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม


คดีตัวอย่าง เช่น ชายพรากหญิงซึ่งเป็นเพื่อนและรักใคร่กันขณะเกิดเหตุอายุไม่เกิน 18 ปี แม่ฝ่ายหญิงแจ้งความร้องทุกข์พนักงานสอบสวนก็สอบสวนตามปกติและเสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง แต่ผู้ต้องหาหลบหนี ส่งสำนวนมายังพนักงานอัยการก็มีการสั่งให้ออกหมายจับตัวมาดำเนินคดีต่อไป แต่ข้อเท็จจริงภายหลังจากนั้นได้ความว่าชายหญิงได้แต่งงานกันและอยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาจนมีบุตรด้วยกัน โดยมีภาพถ่ายงานแต่งงานและหลักฐานการมีบุตรมาแสดง แล้วต่อมาฝ่ายชายจะไปทำงานต่างประเทศ แต่ถูกจับที่สนามบินเนื่องจากมีหมายจับที่เคยสั่งจับไว้แล้วส่งสำนวนมาให้พนักงานอัยการ กรณีอย่างนี้เคยมีพนักงานอัยการเสนอความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ชาย เพราะเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ถ้าฟ้องไปกลับจะเกิดปัญหาเพราะลูกต้องห่างพ่อ ภรรยาต้องห่างสามีครอบครัวก็ขาดเสาหลักที่จะทำมาหาเลี้ยงครอบครัว การดำเนินการสั่งคดีตามระเบียบฯ นี้ถือว่าเป็นเรื่องดุลพินิจของพนักงานอัยการที่จะเสนอสั่งไม่ฟ้อง แม้ว่าผู้กระทำความผิดจะกระทำความผิดจริงตามที่กล่าวหาก็ตาม แต่โดยประการสำคัญก็จะเป็นดุลยพินิจที่อัยการสูงสุดจะพิจารณาสั่งการ ระเบียบนี้จึงเป็นระเบียบที่จะช่วยแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมอีกทางหนึ่ง


ระเบียบอัยการใหม่ ให้อัยการสูงสุดมีอำนาจโดยตรง สั่งคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม



นายโกศลวัฒน์ กล่าวย้ำเตือนว่า แม้อัยการจะมีอำนาจสั่งไม่ฟ้อง หรือถอนฟ้อง แต่ทางเลือกที่ดีที่สุด คือทุกคนไม่ควรไปสุ่มเสี่ยงกระทำการที่ผิดกฎหมาย เพื่อไม่ต้องนำความทุกข์ที่ร้ายแรงมาสู่ตนเองและครอบครัว อย่าให้ต้องมาถึงชั้นให้อัยการสูงสุดต้องสั่งไม่ฟ้องคดีเนื่องจากเป็นคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเลย ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม อย่างอดีตเช่น เรื่องขโมยซาลาเปาเพื่อบรรเทาความหิวโหย คดีก็ประมาณ 10 กว่าปีแล้วอัยการสูงสุดตอนนั้นสั่งไม่ฟ้อง ขณะที่ในยุค 4.0 เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร ที่ประชาชนจะหาข้อมูลข่าวสารได้โดยง่าย สามารถจะรู้ได้ทันทีว่า ยังมีหน่วยงานของรัฐ ของเอกชน ที่ให้ความช่วยเหลือผู้มีปัญหา ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส อยู่ที่ไหน จึงเป็นทางเลือกได้อย่างดี ที่ไม่ควรกระทำการผิดกฎหมาย แต่หากประชาชนมีปัญหากฎหมาย ก็สามารถปรึกษาอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ได้ที่สำนักงานอัยการในพื้นที่นั้นด้วย


ระเบียบอัยการใหม่ ให้อัยการสูงสุดมีอำนาจโดยตรง สั่งคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับระเบียบฯ ที่ออกมาใหม่ดังกล่าว มีการแก้ไขยกเลิกข้อความ ในข้อ 7 ของระเบียบฯ เดิมปี 2554 จากเดิมที่ระบุว่า ในกรณีที่พนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศตามข้อ 5 ให้พนักงานอัยการ พิจารณาโดยแสดงเหตุผลอันสมควรประกอบ โดยให้คํานึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้ด้วย(1) สาเหตุหรือมูลเหตุจูงใจในการกระทําความผิด ลักษณะความร้ายแรงของการกระทํา ความผิด ผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการกระทําความผิด
(2) เหตุผลตามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศถึงผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริม ความสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ
(3) เหตุผลตามความเห็นของสภาความมั่นคงแห่งชาติถึงผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ
(4) เหตุผลตามความเห็นของรัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีถึงผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ
(5) ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความสามัคคีของคนในชาติ
ส่วนในระเบียบใหม่ฯ ก็ให้แก้ไข (5) เป็นเหตุผลตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอื่นถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัย ของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และ ส่วนของ (5) เดิม ก็ให้แก้เป็น (6) ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความสามัคคีของคนในชาติ

logoline