svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

(คลิปข่าว) "เสียสัตย์เพื่อชาติ" กับ "ตระบัดสัตย์เพื่อประชาชน"

น้ำตาของ "ลุงกำนัน" สุเทพ เทือกสุบรรณ กลายเป็นไฮไลท์ของงานเปิดตัว "พรรครวมพลังประชาชาติไทย" หรือ รปช. เพราะสร้างกระแสสนใจมากยิ่งกว่าทิศทางและนโยบายพรรค รวมไปถึงว่าที่หัวหน้าพรรคคนใหม่อย่าง ดอกเตอร์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสียอีก



เช้าวันจันทร์ หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับพาดหัวถึงกำนันสุเทพ ทำนองว่า "ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ" ขณะที่ในโซเชียลมีเดีย ก็มีการวิจารณ์ถึงประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง

เพราะลุงกำนันเคยพูดชัดถ้อยชัดคำตั้งแต่เป็นผู้นำ กปปส. นำมวลชนล้มร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย และโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า จะไม่หวนกลับมาสู่เส้นทางการเมืองอีก และเมื่อภารกิจสำเร็จเสร็จสิ้น คสช.เข้ามายึดอำนาจเรียบร้อย ก็ยังให้สัมภาษณ์อีกหลายครั้ง แม้กระทั่งตอนบวชเป็นพระก็ยังเคยพูดในทำนองเดียวกัน

เมื่อมีการกลับคำครั้งใหญ่ของคนระดับ "เซเลบการเมือง" จึงมีคนนำไปเปรียบเทียบกับวาทะ "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ของ "บิ๊กสุ" พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำ รสช. หรือ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 34 และประกาศมาตลอดว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจ แต่แล้วก็ "กลับคำ" มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 35 โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้อง "เสียสัตย์เพื่อชาติ"


วลีนี้เพียงวลีเดียว ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองบานปลายจนกลายเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเคยเป็นแบบนี้ ทำให้หลายคนกังวลว่า คำประกาศของกำนันสุเทพ จะทำให้การเมืองร้อนแรงหรือเดินไปสู่จุดวิกฤติเหมือนพฤษภาทมิฬหรือไม่

"ล่าความจริง" สอบถามไปยังนักรัฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองหลายคน ได้รับคำตอบว่า กรณีของ "ลุงกำนัน" ยังไม่สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นตัวเร่งให้อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงขึ้น เพราะกรณีของ พลเอกสุจินดา เป็นการ "เสียสัจจะ" เพื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เคยประกาศว่าจะไม่รับ ไม่สืบทอดอำนาจ แต่กรณีของ "ลุงกำนัน" ยังอยู่ในขั้นตอนแค่ตัดสินใจหวนกลับมาเล่นการเมืองเท่านั้น ยังไม่ได้ถึงขั้นรับตำแหน่งสำคัญในทางการเมือง ฉะนั้นคำประกาศ "ตระบัดสัตย์เพื่อประชาชน" ของ "ลุงกำนัน" จึงน่าจะยังไม่ส่งผลทางการเมืองแรงเท่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ของ "บิ๊กสุ"

ประวัติศาสตร์การเมืองที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่า ก็คือ โมเดลการตั้งพรรค รปช. ซึ่งมี อาจารย์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นว่าที่หัวหน้าพรรค และมี "ลุงกำนัน" เป็นตัวจักรสำคัญอยู่เบื้องหลัง เพราะมันช่างคล้ายคลึงกับ "พรรคมหาชน" ที่มี "เสธ.หนั่น" พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวขับเคลื่อน และมี อาจารย์เอนก เป็นหัวหน้าพรรคเหมือนกัน โดยพรรคมหาชนเปิดตัวสู้ศึกเลือกตั้งเมื่อปี 48

ใครที่ยังจำจังหวะก้าวทางการเมืองของพรรคมหาชนได้ จะรู้ทันทีว่าช่างคล้ายคลึงกับพรรค รปช. จนเหมือนเป็นกงล้อประวัติศาสตร์ที่หมุนวนมาทับรอยเดิม


พรรคมหาชน มีอาจารย์เอนก เป็นหัวหน้าพรรค แต่คนที่กุมอำนาจในพรรคจริงๆ คือ เสธ.หนั่น / ในแง่นี้เซียนการเมืองมองว่า แม้พรรค รปช.จะมีนักวิชาการชื่อดังอย่าง อาจารย์เอนก เป็นหัวหน้าพรรคเหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วคนที่กุมบังเหียนพรรคจริงๆ คงไม่พ้น "ลุงกำนัน" / และทั้ง เสธ.หนั่น กับ ลุงกำนัน ล้วนเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ทั้งคู่ เคยปั้นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกฯมาแล้ว / กรณีของ เสธ.หนั่น ดัน ชวน หลีกภัย นั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศถึง 2 สมัย / ขณะที่ "ลุงกำนัน" ก็ปั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกฯได้ แม้ไม่เคยชนะเลือกตั้งเลยก็ตาม


แต่จุดจบของ "พรรคมหาชน" คือความล้มเหลว / เพราะได้ ส.ส.จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 48 เพียง 2 ที่นั่ง จากนั้นมาชนะเลือกตั้งซ่อมอีก 1 เขต รวมเป็น 3 ที่นั่งเท่านั้น ทำให้ไม่มีบทบาททางการเมืองในสภา

ความต่างเพียงอย่างเดียวที่พอมองเห็นในขณะนี้ก็คือ การเลือกตั้งรอบใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะนับคะแนนเสียงตกน้ำ หรือ คะแนนคนแพ้ ไปคิดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วย ทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยเปิดตัวกันอย่างคีกคัก เพราะต่างก็หวังจะได้ ส.ส.จาก "คะแนนเสียงตกน้ำ" นี่เอง


แต่ต้องไม่ลืมว่า อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยจัดชุมนุมใหญ่นานกว่า 300 วัน และโค่นระบอบทักษิณสำเร็จมาแล้วเมื่อปี 49 ก็เคยตั้งพรรคการเมืองเหมือนกัน และไม่ได้ ส.ส.เข้าสภาเลยแม้แต่คนเดียว


ฉะนั้นสุดท้ายพรรค รปช.ของอาจารย์เอนก กับลุงกำนัน จะฝ่าด่านอรหันต์ และการช่วงขิงคะแนนเสียงตกน้ำ กระทั่งเดินเฉิดฉายเข้าสู่สภาหินอ่อนได้สักกี่คน


คำตอบคงอยู่ที่ประชาชนในวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง ว่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่