"นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง" รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวชี้แจงว่า การทำงานของอัยการนั้น จะเป็นไปตามหลักที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) ซึ่งกรณีที่ความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักรนั้นตามหลักพนักงานอัยการไม่มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาได้เอง โดยอัยการมีอำนาจหน้าที่ พิจารณาสำนวนการสอบสวน ที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนแล้วส่งสำนวนมาให้พนักงานอัยการ ตามป.วิ.อ. มาตรา 141 หรือมาตรา 142 เท่านั้น ซึ่งหากพนักงานอัยการ เห็นว่าสำนวนการสอบสวนยังขาดตกบกพร่องในเรื่องใดๆ ก็มีอำนาจสั่ง ให้พนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้ส่งพยานคนใดมาให้ซักถามเพื่อใช้ในการสั่งคดีต่อไปเท่านั้น ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 143 วรรคสอง (ก)
การที่พนักงานอัยการไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้นขณะเกิดเหตุ ก็เป็นปัญหาอุปสรรคหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรม เนื่องจากบางกรณีอาจมีการหลงลืม หรือไม่รอบคอบในการรวบรวมพยานหลักฐานทำให้พยานหลักฐานที่สำคัญในการพิสูจน์ความผิด หรือบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยสูญหายไป เช่น กรณีคนร้ายลักทรัพย์แต่กลับไม่มีการตรวจสอบหรือขอภาพเคลื่อนไหวจากล้องวงจรปิด เมื่อมีการส่งสำนวนมาพนักงานอัยการจะสั่งให้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุ ก็จะได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติมจากพนักงานสอบสวนว่าไม่สามารถนำภาพกล้องวงจรปิดมาส่งให้ได้เนื่องจากระบบกล้องจะมีการบันทึกภาพทับไป หรือระยะเวลาจัดเก็บมีเพียงกำหนด 2 เดือนนับแต่วันที่มีการบันทึก เป็นต้น
"รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด" กล่าวอีกว่า เนื่องจากระบบวิธีพิจารณาความอาญาในประเทศไทยใช้ระบบกล่าวหา จําเลยก็จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าโจทก์จะสามารถแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ต่อศาลได้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดจริงตามข้อกล่าวหา โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ซึ่งโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด หากยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่ ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสองว่า "เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย" โดยสำนวนที่พนักงานสอบสวน ส่งมาให้พนักงานอัยการพิจารณานั้นอาจมีทั้งสำนวนที่เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา และสำนวนที่เห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา แต่ในการพิจารณาคดีชั้นพนักงานอัยการนั้น พนักงานอัยการจะไม่ใช้หลักยกประโยชน์แห่งความสงสัย เนื่องจากว่าหากพนักงานอัยการเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่ครบ หรือไม่เพียงพอ ก็จะต้องสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามประเด็นที่พนักงานอัยการเห็นว่ายังขาดอยู่
"หากพยานหลักฐานที่จะสนับสนุนให้เห็นว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดนั้นไม่มีอยู่เลยในสำนวนการสอบสวนและไม่อาจที่จะขวานขวายหามาได้ ก็ย่อมที่จะไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา เช่นนี้พนักงานอัยการ ก็ย่อมที่จะมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหารายดังกล่าวตาม ป.วิ.อ.มาตรา 143 และเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาแล้ว กระบวนการที่จะดำเนินต่อสำนวนดังกล่าวก็จะเป็นไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 145 หรือมาตรา 145/1 ที่ว่า หากคำสั่งไม่ฟ้องนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด ถ้าในกรุงเทพฯ ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอ ผบ.ตร. , รอง ผบ.ตร.หรือผช.ผบ.ตร. ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบเสนอผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หากพนักงานสอบสวนเป็นพนักงานฝ่ายปกครองในต่างจังหวัดต้องส่งสำนวนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งในกรณีที่เห็นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ก็ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้ง ไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด โดยการตรวจสอบตามมาตรา 145 หรือมาตรา 145/1นี้จะใช้ในกรณีที่พนักงานอัยการจะไม่อุทธรณ์ ฎีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกา"
นายโกศลวัฒน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวชี้แจงอีกว่า แม้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องแต่คดีจะยังไม่สิ้นสุด กฎหมายให้มีการตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการดังกล่าว โดยเจ้าพนักงานตำรวจหรือฝ่ายปกครอง ซึ่งคดีที่อัยการจังหวัดภูเก็ต มีคำสั่งไม่ฟ้องกรณีตามข่าวนั้นเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ โดยขณะนี้ยังไม่สามารถระบุรายละเอียดได้เพราะกระบวนการยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากยังต้องส่งสำนวนไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 (ผบ.ภ.8) เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้อง ผบ.ภ.8 ก็สามารถมีความเห็นแย้ง กระบวนการก็จะดำเนินการไปสู่อัยการสูงสุดชี้ขาดว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การที่อัยการ จ.ภูเก็ต มีคำสั่งไม่ฟ้องนั้น ก็ไม่ตัดสิทธิฝ่ายผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีเองได้ ตามป.วิ.อ.มาตรา 34
"ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า คุณแม่ของ รปภ. ซึ่งถูกทำร้าย ต้องการที่จะร้องขอความเป็นธรรม สำนักงานอัยการสูงสุดยินดีที่จะรับเรื่องร้องเรียน และพิจารณาให้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ที่จะเป็นการเปลืองค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยขอให้ส่งไปรษณีย์มาก็ได้ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ งานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดยินดีติดตามเรื่องให้" นายโกศลวัฒน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวย้ำ