svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"Air Marshal ตำรวจอากาศ" รับมือก่อการร้าย

07 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัจจุบันหลายประเทศมี Air Marshal กันแล้ว เพื่อรับมือกับภัยคุกคามบนอากาศยาน แม้ประเทศไทยเรายังไม่มี / แต่ก็มีทหารอากาศไทยถูกส่งไปร่ำเรียนกับเขามาด้วย ล่าสุดกองทัพอากาศเตรียมจัดทำหลักสูตร Air Marshal เป็นของตัวเองแล้ว หลักสูตรนี้มีความสำคัญอย่างไร และต้องฝึกฝนแค่ไหนกว่าจะปฏิบัติงานได้ ติดตามจากรายงานพิเศษของ คุณอัญชลี อริยกิจเจริญ

 
Air Marshal หรือบางประเทศเรียก Sky Marshal คือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนอากาศยานให้รอดพ้นจากผู้ก่อการร้ายและผู้ไม่หวังดี แต่ผู้ที่จะทำหน้าที่นี้ได้ ต้องได้รับการฝึกฝนทักษะอย่างเข้มข้น

Air Marshal ใช้จำนวนคนไม่มาก และต้องทำงานรวดเร็ว เพื่อระงับ ควบคุมสถานการณ์ที่เลวร้ายบนอากาศยานให้คืนสู่ภาวะปกติให้ได้ จนกว่านักบิน หรือกัปตัน จะนำเครื่องลงสู่พื้นดินอย่างปลอดภัย เพราะตลอดการเดินทางบนความสูงกว่า 30,000 ฟุต จะไม่มีกองหนุนหรือกำลังเสริมใดๆทุกวันนี้ เที่ยวบินที่บินจากต่างประเทศมาไทย บางสายการบินก็มี Air Marshal และบางประเทศก็ใช้ตำรวจ เพราะมีทักษะอยู่แล้ว แต่ก็ต้องผ่านการฝึกมาเช่นกัน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ นับว่าค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
เส้นทางของ Air Marshal นับว่ายาวนานพอสมควร / จุดเริ่มต้นต้องย้อนไปที่การเริ่มจัดตั้ง องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ "ICAO" ในปี 2487 ทำให้การคมนาคมทางอากาศเกิดมาตรฐานความปลอดภัยของการบินพลเรือนระหว่างประเทศ แต่ในปี 2504 เครื่องบินสหรัฐฯ เส้นทางจาก ไมอามี ไป คิวบา ถูกจี้ยึดเป็นครั้งแรก จนนำมาสู่การเกิดอนุสัญญา Tokyo Convention และในปี 2513 ได้เกิดการใช้งาน Air Marshal ขึ้นเป็นครั้งแรก 
สำหรับกองทัพอากาศไทย มีเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ หรือ Commando อยู่แล้ว มีภารกิจหลักในต่อต้านการก่อการร้ายสากล และแสดงแสนยานุภาพจนเป็นที่ประจักษ์ในปี 2524 เมื่อสายการบินการูด้า อินโดนีเซีย ถูกปล้นยึดอากาศยาน แล้วมาลงจอดที่สนามบินดอนเมือง ชุด Commando เข้าแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือตัวประกันได้สำเร็จ 
และนี่คือเหตุการณ์ 911 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ผู้ก่อการร้าย 19 คนบุกจี้ยึดเครื่องบินของสหรัฐฯ 4 ลำ แล้วปฏิบัติการพลีชีพด้วยการขับเครื่องบินพุ่งชนสถานที่สำคัญ จนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน / เหตุการณ์นี้ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้น จึงกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเข้มงวดกับสายการบินทั้งในและระหว่างประเทศ / สำหรับไทยเองก็ได้รับแนวมคิดการมี Air Marshal ไว้สำหรับปฏิบัติภารกิจเช่นกัน

โดยในช่วงที่ไทยจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี 2546 บริษัท การบินไทย ได้ริเริ่มโครงการเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่ติดอาวุธ // กองทัพอากาศ มอบหมายให้ชุดปฏิบัติการพิเศษ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน สนับสนุนเจ้าหน้าที่ให้กับ บริษัท การบินไทย จำนวน 59 คน เพื่อปฏิบัติงานบนเครื่องบิน ทั้งเที่ยวบินภายในและระหว่างประเทศ รวม 548 เที่ยวบิน ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี นับเป็นก้าวแรกของไทยที่มีการพัฒนาด้านการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน โดยมีเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานบนเครื่องบินพาณิชย์เป็นครั้งแรก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้โดยสารและภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจการบินของไทย จากนั้นการบินไทยและกองทัพอากาศ ก็ร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง

การฝึก Air Marshal ของกรมปฏิบัติการพิเศษ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 นอกจากฝึกภายในประเทศแล้ว ยังส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานและอบรมในต่างประเทศด้วย อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

"ทีมล่าความจริง" ได้สอบถามผู้ที่เคยเข้ารับการอบรมในต่างประเทศ เขาบอกว่าการจะสอบผ่านหรือไม่ อยู่ที่การทดสอบยิงปืน ลักษณะคล้ายการยิงปืนแบบรณยุทธ แต่ใช้ปืนที่มีน้ำหนักเหนี่ยวไก ขนาด 8 ปอนด์ ซึ่งจะยิงยากกว่าปกติ ไม่ต้องขึ้นสไลด์ ไม่มีระบบการห้ามไก แต่ใช้วิธีการลดนก สามารถใช้การได้ทันทีเมื่อฉุกเฉิน แต่ก็เป็นอันตรายเช่นกันถ้ายังไม่ใช้งาน // การทดสอบค่อนข้างบีบคั้น เช่น การชักปืนขึ้นมายิง ใช้เวลาเพียง 1.75 วินาทีเท่านั้น และต้องได้ 127 จาก 150 คะแนน จึงมีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์มากพอสมควร 
ปัจจุบันประเทศไทยมี พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2558 เพื่อให้สามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนอากาศยาน ปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องบินพาณิชย์สัญชาติไทยได้ตามกฎหมายแล้ว ส่วนปัญหาการนำอาวุธขึ้นเครื่อง ในอนาคตจะมีการแก้ไขต่อไป 
ล่าสุด กรมปฏิบัติการพิเศษ จัดโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนอากาศยาน 40 นาย เพื่อให้กำลังพลมีขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน ใช้เวลาฝึกอบรม 1 เดือน มี 6 หมวดวิชา คือ ความรู้ด้านกฎหมาย การเตรียมร่างกาย / ความรู้ด้านเวชศาสตร์การบินและการเวชกิจฉุกเฉิน / อาวุธศึกษาและวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง / การต่อสู้ป้องกันตัว / การใช้อาวุธประจำกาย ต้องยิงปืนแม่นยำ และผ่านเกณฑ์การทดสอบการยิง 7 สถานี สุดท้ายคือยุทธวิธีการรักษาความความปลอดภัยบนอากาศยาน
สำหรับหลักสูตร Air Marshal ที่ใช้เวลาอบรมนาน 2 เดือน เพื่อสร้าง "วิทยากร" นำไปฝึกสอนต่อไปนั้น ขณะนี้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากคณะกรรมการกองทัพอากาศ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 จากนั้นจะเปิดรับรุ่นแรกจากทุกเหล่าทัพ เพื่อทดลองข้อดีข้อเสียของหลักสูตร ก่อนขออนุมัติจากสำนักงานการบินพลเรือน เพื่อจัดอบรมอย่างเป็นทางการหนึ่งในผู้จัดทำหลักสูตร ยืนยันว่า การมี Air Marshal เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น เพราะอย่างน้อยก็เป็นการป้องปรามคนร้ายที่คิดจะลงมือก่อเหตุบนอากาศยาน

logoline