“ยอดงานก่อสร้างอาคารลดลงมาก เพราะกำลังซื้อที่พักอาศัยใหม่ลดลง สอดคล้องผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของหอการค้าไทยที่ลดลง และไม่มั่นใจกำลังซื้อในอนาคต แม้การส่งออก และท่องเที่ยวจะดีขึ้น แต่อุตสาหกรรมหลัก เช่น ยอดผลิตรถยนต์ลดลง ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นทัวว์จีนที่มีกำลังซื้อไม่มาก"
ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง คาดว่างานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐจะมีมากขึ้นทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ต่างๆ ส่วนงานก่อสร้างอาคารยังคงลดลง คาดว่างานก่อสร้างอาคารทั้งภาครัฐและเอกชนในปีนี้จะลดลงประมาณ 20% ส่วนงานโครงสร้างพื้นฐานแม้ว่าจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เพิ่งจบการประมูลจะเห็นการก่อสร้างจริงได้ใน ปี 2561 ทำให้ตัวเลขในอุตสาหกรรมก่อสร้างปีนี้ลดลงเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องจากปี 2558
“คาดว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างจะพลิกกลับขึ้นมาฟื้นตัวได้ในช่วงกลางปีหน้า และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องประมาณ 3 ปี หลังจากงานโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลเข้าสู่กระบวนการก่อสร้าง ทำให้งานก่อสร้างอาคารทยอยกลับมา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงกลางปีหน้า”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่างานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจะเพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างไม่ดีนัก เพราะงานโครงสร้างพื้นฐานมีเพียงบริษัทขนาดกลางถึงใหญ่ไม่กี่สิบบริษัทที่ได้ประโยชน์ ส่วนผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่เป็นการสร้างบ้านเรือน อาคารต่างๆ นับหมื่นราย ยังย่ำแย่ เพราะงานอาคารเข้ามาน้อย
นอกจากนี้ ผู้รับเหมาก่อสร้างรายเล็ก ยังประสบปัญหาในเรื่องกฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะงานของอุตสาหกรรมก่อสร้าง
“ธุรกิจนี้จะเป็นงานโครงการที่มีเวลาก่อสร้าง 3-4 เดือน ก็จบโครงการ หากต้องเสียเงินค่าขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวราว 2 หมื่นบาทต่อคนแล้วใช้งานได้ไม่กี่เดือน ก็ไม่คุ้มค่าที่จะขึ้นทะเบียน”
รวมทั้งยังกำหนดให้แรงงานต่างด้าวทำได้เฉพาะงานกรรมกร เป็นช่างฝีมือไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแรงงานต่างด้าวบางส่วนทำงานมาเป็นสิบปีมีความชำนาญยกระดับเป็นช่างจำนวนมาก แต่กฎหมายไม่เปิดช่อง หากมีผู้กลั่นแกล้งร้องเรียนผู้รับเหมาจะถูกปรับเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบัน งานก่อสร้างยังขาดแคลนแรงงานกว่า 3 แสนคน ขณะที่กฎหมายแรงงานต่างด้าวใหม่เป็นข้อจำกัดในการจ้างแรงงานต่างด้าวมาก ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายอาจต้องออกจากธุรกิจนี้ไป
นายวิกรม วัชรคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมก่อสร้างลดลงกว่า 10% จากปริมาณงานก่อสร้างที่ลดลง สถานการณ์แย่กว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ราคาดีขึ้นมากว่าปีก่อนเล็กน้อย ทำให้ผู้ประกอบการยังพออยู่ได้
“ขณะนี้มีผู้ที่ต้องการที่พักอาศัยกว่า 10 ล้านคน แสดงว่าความต้องการที่พักอาศัยยังมี แต่ขาดกำลังซื้อ หากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ในธุรกิจอสังหาฯ ก็ยังคงขยายตัวได้”
ในครึ่งปีหลังความต้องการใช้เหล็กยังคงไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการลงทุนภาครัฐยังไม่มีกิจกรรมก่อสร้างชัดเจน หากเริ่มก่อสร้างจะมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้น ในส่วนของราคายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะประเทศจีนพยายามยกระดับราคาเหล็กเพื่อให้ธุรกิจเหล็กอยู่รอด ทำให้ราคาเหล็กในตลาดโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 15% จากช่วงต่ำสุดเมื่อ 2 เดือนก่อน
คาดว่าปริมาณการใช้เหล็กปีนี้จะอยู่ที่ 15-16 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่มีการใช้ภายในประเทศ 17 ล้านตัน เพราะปีที่ผ่านมาราคาเหล็กตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเร่งซื้อเหล็กกักตุนจึงทำให้มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาก