svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“บิ๊กตู่”สั่งทุกหน่วยงาน "ทำแผนบริหารจัดการน้ำ"

11 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“บิ๊กตู่”สั่งทุกหน่วยงานทำแผนบริหารจัดการน้ำ ชูตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขึ้นตรง"นายกฯ"ดูแล ขอปชช.-เอ็นจีโอ หากเจอเวรคืนที่ดินขอให้เข้าใจด้วย

         วันที่ 11 ส.ค. 2560-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยต้องประสบปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับแหล่งน้ำไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้งเนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน หรือในฤดูฝนที่มีน้ำหลากก็เกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นในหลายๆพื้นที่ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำขหลักของประเทศ บางครั้งทั้งปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมก็เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกัน เพียงแต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ประกอบกับในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาและขยายตัวของประชากรและชุมชนเพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในขั้นตอนการผลิต

          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนน้ำบาดาลซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีการพัฒนาและสูบขึ้นมาใช้ประโยชน์ จนบางครั้งทำให้บางพื้นที่เกิดวิกฤตเสียสมดุลเพราะมีการลดระดับของน้ำบาดาลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องขุดเจาะบ่อลึกลงไปมากกว่าเดิมเพื่อที่จะสูบน้ำบาดาลขึ้นมา เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายและส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย

          “รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนที่เติมน้ำบาดาลทั่วประเทศ เป็นโครงการเติมน้ำลงสู่แหล่งน้ำใต้ดินระดับตื้น ใน 3 รูปแบบซึ่งเป็นแนวคิด วิถีทางของปราชญ์ชาวบ้าน โดยให้ทำการศึกษาตามหลักวิชาการ และขยายผลให้เป็นรูปธรรม เป็นสัมฤทธิ์ผลทั่วประเทศ ภายในฤดูฝนของปีนี้ ซึ่งระบบเติมน้ำดังกล่าวได้แก่ 1.การเติมน้ำฝนผ่านบ่อวง 2.การเติมน้ำผ่านสระหรือคลองก้นรั่ว และ 3.การเติมน้ำฝนผ่านหลังคาลงสู่บ่อน้ำบาดาลระดับตื้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ซึ่งผลการดำเนินการห้วง 3 ปีที่ผ่านมา สามารถเพิ่มความจุน้ำได้ ร้อยละ 21 ของเป้าหมาย คิดเป็น 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตรจากที่มีอยู่เดิม 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ ร้อยละ 18 ของเป้าหมาย คิดเป็น 2.4 ล้านไร่ จากเดิม 29 ล้านไร่ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ จากการดำเนินการเพิ่มเติมนี้ ราว 7.2 แสนครัวเรือน ทั่วประเทศ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง จึงจะต้องพยายามกันต่อไป แม้การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์น้ำ จะประสบความสำเร็จ แต่ยังมีปัญหาในการทำงาน อาทิ การขอให้หรือจัดหาพื้นที่เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ หรือที่ดินของเอกชนซึ่งต้องมีการเวนคืน การไม่มีหน่วยงานกลางในการกำหนดนโยบาย ติดตาม และบริหารจัดการน้ำ รวมถึงปัญหามวลชน ประชาชน เอ็นจีโอ ที่ไม่เข้าใจ

           พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน มีความสำคัญและต้องดำเนินการกันอย่างบูรณาการ จึงมีแนวทางที่จะตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะยุบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำเท่าที่จำเป็นเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานและงบประมาณ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานปฏิรูปและบูรณาการการทำงานของส่วนราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับพรบ. น้ำ ที่ดำเนินการอยู่ในสนช.

            พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวอีกว่า สิ่งไหนแก้ด้วยวิธีเดิมๆ แล้วไม่ยั่งยืน แก้อะไรไม่ได้ ก็ต้องคิดใหม่ให้รอบคอบ ทำใหม่ให้เกิดการบูรณาการ เพื่อลดความเดือดร้อน และดูแลพี่น้องประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย อย่างเท่าเทียม การที่มีบางกลุ่ม บางฝ่ายออกมากล่าวอ้าง หลักสากลบ้าง สิทธิมนุษยชนบ้าง หรือการรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้าง ก็อาจกล่าวได้ว่าก็ถูกต้อง แต่พอเอามาผสมโรงกัน มันทำให้ทำอะไรไม่ได้เลย พัฒนาก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ แต่ความเสียหายมันเกิดขึ้นทุกครั้ง ฉะนั้นเราจะทำอย่างไร ที่จะให้ทุกอย่างเดินหน้าไปพร้อมๆกันได้สักที ให้มันเกิดผลกระทบระหว่างกันให้น้อยที่สุด มันต้องหาทางออกให้ได้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เคยชินกับการถูกปล่อยปละละเลย ไม่จริงใจในการช่วยเหลือ อาจจะถูกนายทุนที่ไม่ดีหลอกใช้ หรือทำให้ถูกบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกลายเป็น แพะรับบาป และเป็นเหยื่อเกมการเมือง ที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ โดยถูกนำไปอ้างความชอบธรรม

          “ผมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ต้องใช้ข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำ การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน น้ำในเขื่อน ประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อน ประกอบ การกำหนดแผนเผชิญเหตุ ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอย่างทันท่วงที อาจจะต้องทำสมมุติฐานไว้นะครับว่า ปกติเป็นอย่างไร ถ้าฝนมากเกินปกติจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นพายุเข้ามาจะเป็นอย่างไรนะครับ ต้องเตรียมระดับต่างๆ เหล่านี้ไว้ว่าเราจะเตรียมอะไรไว้บ้างล่วงหน้า จากที่ประชุมก็ได้รายงานว่า ในห้วงเดือนสิงหาคม ถึง เดือนกันยายนนี้ ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากพายุที่พาดผ่านทะเลจีนใต้ จะทำให้เกิดฝนตกชุก มีความเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

         พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ บ้านเรือน พื้นที่เกษตรกรรม โดยให้หน่วยงานนำเสนอแผนมาว่างบประมาณปี 61 และ 62 จะใช้ทำอะไรบ้าง อะไรที่ต้องทำเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมก่อน อาจจะไม่ได้ทั้งหมด แต่ต้องทำเป็นพื้นที่ ต้องลดปัญหาให้ได้ อย่างน้อย 30-50%ให้ได้โดยเร็วเอามาทำก่อน แผนอะไรที่ต้องทำเป็นระยะยาว ก็ให้เสนอมาเป็นแผนระยะต่อไป ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ถึง 2569 ตามแผนใหญ่ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

logoline