svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อาชีพนี้รุ่งแน่! "ผู้ดูแลคนไข้" ในยุคผู้สูงอายุครองเมือง ไม่จบป.ตรี รายได้ 20,000

09 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมืองไทยในอนาคตจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งอาชีพหนึ่งที่จะมีความต้องการมาก คือ "ผู้ดูแลคนแก่" โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนแก่ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง

แนวโน้มผู้สูงวัยป่วยติดบ้านติดเตียงเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเพราะไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนคนแก่เพิ่มมากขึ้น เมื่อแก่ก็ย่อมตามมาด้วยอาการเจ็บป่วย ทว่า คนวัยหนุ่มสาวกลับต้องทำงานหารายได้ จึงไม่สามารถดูแลพ่อแม่ยามเจ็บป่วยได้ตลอดทั้งวันหรือทุกวัน อาชีพ"ผู้ดูแลคนไข้ติดเตียง"จึงนับเป็นหนึ่งในอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก การันตีว่า"ไม่มีตกงาน"แถมรายได้งาม 20,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน ไม่ต้องมีวุฒิปริญญาตรี        
นายญาณพล พรหมด้วง หรือซาร่า วัย 38 ปี ซึ่ง"คมชัดลึก"มีโอกาสพูดคุยขณะดูแลคนไข้ที่ตึกอายุรกรรมชาย 2 รพ.พัทลุง  เธอบอกว่า เรียนจบชั้นม.6 ปัจจุบันเป็นอสม.หมู่ 4 ต.บ้านประดู่ อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง จึงมีโอกาสเข้าร่วมอบรม ประชุม และหาความรู้ในการดูแลคนไข้เบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข บวกกับก่อนหน้านั้นเป็นอาสาสมัครช่วยเหลืองานต่างๆที่รพ.ป่าพะยอม จึงเก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ ทำให้พอที่จะมีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลคนไข้ เมื่อญาติคนไข้ติดเตียงต้องการคนมาดูแลที่บ้าน พยาบาลรพ.ป่าพะยอมจึงแนะนำเธอให้กับญาติ โดยเริ่มดูแลตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และเมื่อคนไข้มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในรพ.ก็จะตามมาเฝ้าไข้ด้วย    
"บ้านตัวเองกับบ้านคนไข้อยู่ไม่ไกลกัน โดยจะรับดูแลคนไข้ที่บ้านช่วงกลางวันตั้งแต่ 7.30-16.30 น. ส่วนช่วงกลางคืนญาติจะดูแลเอง ได้รับค่าจ้างกลางวัน 400 บาท แต่หากดูแลช่วงกลางคืนด้วยก็จะเพิ่มอีก 400 บาท"ซาร่ากล่าว   
ซาร่า บอกว่า  คนไข้ของเธอเป็นคนไข้ติดเตียง เจาะคอและให้ทานอาหารทางสายยางผ่านจมูก งานดูแลคนไข้ในแต่ละวัน จึงมีตั้งแต่การดูดเสมหะให้คนไข้ แปรงฟัน เช็ดตัว ทาแป้ง ทาโลชั่น ล้างแผลที่คอ ปูเตียง เปลี่ยนถุงยางอนามัยที่ต่อกับสายปัสสาวะ พลิกตัวคนไข้ทุก 2 ชั่วโมงเพื่อป้องกันแผลกดทับ ให้คนไข้ทานอาหารผ่านสายยาง และทำกายภาพให้คนไข้ 1 ชั่วโมง 
"คนที่จะมาทำงานเกี่ยวกับการดูแลคนไข้จะต้องรักในงานที่ทำ เอาใจใส่ดูแลคนไข้ อารมณ์ดี ใจเย็น พูดคุยกับคนไข้ดีๆ หากิจกรรมต่างๆให้คนไข้ทำและควรสังเกตอาการเจ็บป่วยที่ผิดปกติเบื้องต้นของคนไข้ได้ ส่วนคนใจร้อน ทำงานแบบผ่านๆไปทีไม่เหมาะที่จะทำงานในอาชีพนี้"ซาร่ากล่าว      
ซาร่าเป็นรูปแบบหนึ่งของผู้ดูแลคนไข้ติดเตียงที่รับดูแลคนไข้ที่บ้านซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้าน โดยอาศัยนำความรู้และประสบการณ์จากการเป็นอสม.มาใช้งาน     
เช่นเดียวกับ "ป้าเอียด" วัย 68 ปีที่ยังรับดูแลคนป่วยหรือคนแก่ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยดูแลคนบ้านใกล้ที่เป็นอัมพฤกษ์ ปัจจุบันป้าเอียดรับเฝ้าไข้คนป่วยที่นอนรักษาตัวในรพ. แต่ด้วยวัยที่มากก่อนรับงานป้าเอียดจะขอเดินทางมาดูคนไข้ เพื่อพิจารณาง่าตนเองจะดูแลได้หรือไม่ เพราะหากเป็นคนไข้ติดเตียงที่มีนำหนักตัวมาก ป้าเอียดอาจจะพลิกตัวคนไข้ทุก 2 ชั่วโมงไม่ไหว โดยป้าเอียดคิดค่าจ้าง กลางวัน 300 บาทและกลางคืน 300 บาท   
"คมชัดลึก" ได้ลองติดต่อสอบถามไปยังศูนย์รับดูแลคนไข้แห่งหนึ่ง พบว่า อัตราค่าจ้างหากให้มาดูแลประจำที่บ้านคนไข้จะอยู่ที่ 20,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน โดยหากเป็นคนที่ผ่านการเรียนหลักสูตรบริบาลหรือผู้ช่วยพยาบาลก็จะมีค่าจ้างที่สูงขึ้น เนื่องจากคนที่ผ่านหลักสูตรนี้จะมีความรู้ในการดูแลคนไข้ มากกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนมาโดยตรง หรือหากไม่จ้างประจำเป็นรายเดือน แต่จะจ้างแบบครั้งคราว จะมีการคิดค่าจ้างแบบกะ คือ กลางวัน 8.30-16.30 น. กลางคืนแบ่งเป็น 2 กะ 16.30-24.00 น. และ 24.00-8.30 นะ กะละ 500 บาท       
แน่นอนว่าในอนาคต "ผู้ดูแลคนไข้ติดเตียง"นับเป็นอีกอาชีพที่สดใส ในตลาดมีความต้องการมากขึ้น เพราะคนแก่ที่ถูกให้อยู่บ้านคนเดียว จากการที่ลูกๆต้องออกไปทำงานหรือเป็นคนไข้ติดเตียงมีจำนวนมากขึ้น จำเป็นต้องมีคนดูแล      
จากผลการตรวจคัดกรองสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ปี 2558 ในผู้สูงอายุ 8 ล้านคน พบว่ามีถึง 1.3 ล้านคนที่อยู่ในสภาพติดบ้านและอยู่ในสภาพหง่อม นอนติดเตียง ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องพึ่งพิงคนช่วยดูแล      ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ในปี 2560 จะมีผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียง รวมกันกว่า  3.7 แสนคน และในอีก 20 ปีข้างหน้าคือในปี 2580 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 8 แสนคน 

ข่าวคมชัดลึก

logoline