svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"เจ๊เล้ง" มังกรซ่อนหวาน (แต่เจ็บ) ใจใหญ่ใจนักเลงใจถึงพึ่งได้! "สนุกกับการทำงาน อะไรไม่ดีต้องตัดทิ้ง"

07 กรกฎาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นางอารีฉัตร อภิสิทธิ์อมรกุล หรือ เจ๊เล้ง เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นเจ้าของ "เจ๊เล้ง พลาซ่า"ที่ตั้งอยู่ติดกับสนามบินดอนเมือง ห้างขายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศชื่อดัง

ล่าสุด เจ๊เล้ง  เปิดใจกับสื่อหลายสำนัก เกี่ยวกับเรื่องราวการหย่าขาดจากสามี (นายจำรัส อภิสิทธิ์กุล)โดย เจ๊เล้ง บอกว่า ยอมยกเงินสดและทรัพย์สินรวมมูลค่า 700 ล้านบาทให้ไป เพื่อแลกกับอิสรภาพ 
ไม่เพียงเท่านั้น เจ๊เล้ง ยังบอกว่า หลังเสร็จภารกิจกับอดีตสามี.. ห้าง เจ๊เล้ง พลาซ่า จะจัดโปรโมชั่นพิเศษให้แก่ลูกค้า ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1-10 ก.ย. ที่จะถึงนี้ โดยเจ๊ ให้เหตุผลว่า แจกให้อดีตสามีไป 700 ล้าน ทำไมจะแจกให้ลูกค้าบ้างไม่ได้
ความใจถึง ใจใหญ่ ใจนักเลง เป็นที่รู้กันว่า เจ๊เล้ง น่าจะไม่เป็นสองรองใคร!
สำหรับ อารียฉัตร อภิสิทธิ์อมรกุล หรือ เจ้เล้ง ดอนเมือง (เกิด 5 เมษายน พ.ศ. 2493) ปัจจุบันอายุ 67 ปี ครอบครัวอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 14 ปี และลงทุนค้าขายเริ่มจากเงินเพียง 1,200 บาท 
ปัจจุบัน เจ๊เล้ง  เป็นเจ้าของบริษัท เอแอนด์เจ บิวตี้โปรดัก จำกัด หรือที่รู้จักกันว่า เจ้เล้ง พลาซ่า ซึ่งตั้งอยู่ติดกับสนามบินดอนเมือง "เจ๊เล้ง" เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ (นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ปี 2556)  ว่า "การทำงานคือความสุขและสนุก 

\"เจ๊เล้ง\" มังกรซ่อนหวาน (แต่เจ็บ)
ใจใหญ่ใจนักเลงใจถึงพึ่งได้!
\"สนุกกับการทำงาน อะไรไม่ดีต้องตัดทิ้ง\"

 จากเด็กอายุ 14 ผันตัวเองมาเป็นแม่ค้า ก้มหน้าทำงานหนักด้วยความสุข ผ่านไป 40 ปี เธอเป็นเศรษฐีนี ที่ยังมีความสุขในการทำงาน
เป็นหญิงแกร่งที่คร่ำหวอดในแวดวงตลาดสินค้าความงามปลอดภาษี หรือ "ดิวตี้ ฟรี" มานานกว่า 4 ทศวรรษ
แม้วันนี้ เจ๊เล้ง จะมีอายุเลยวัยเกษียณ แต่เธอไม่เคยคิดจะเลิก "บ้างาน" เพราะนั่นคือชีวิต และความสนุกของเธอ ทำแล้วมีความสุข เลยไม่ต้องวางการมือ 
ชีวิตและความเป็นมาของเจ๊เล้ง จากเด็กที่ต้องเช่าบ้านเพื่ออยู่อาศัย จนกลายมาเป็น "เศรษฐีนีใหญ่" ระดับประเทศไทย
เธอบอกว่า เริ่มต้นทำงานตั้งแต่อายุ 14 ปี ล้มลุกคลาน ผ่านร้อนผ่านหนาว เหน็ดเหนื่อยท้อแท้ แต่ทั้งหมด เธอก็ "สนุก" กับการทำงาน และทุกโปรเจคที่เธอทำล้วนมุ่งมั่น ใช้ความมานะอุตสาหะไม่น้อยกว่าใคร หลายๆงานเธอยังโดดมาคุมเอง เพื่อต้องการใช้งบประมาณให้คุ้มค่าที่สุด
"ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ฉันเหมือนเป็นคนมีองค์ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ตอนแต่งงานใหม่ๆรู้สึกหดหู่ หลังจากนั้นก็เริ่มคิดอะไรหลายอย่าง และลงมือทำงานเอง เหนื่อยแค่ไหนก็ยอมเพื่อให้มีเงิน" เธอเล่า
เพราะตอนที่เจ๊เล้งแต่งงานนั้น ต้องอยู่กับครอบครัวสามี แต่ด้วยความเป็นคนที่ชอบจะทำอะไรเองทุกอย่าง ทำให้ความคิดโลดแล่นสรรหาวิธีการที่จะเพิ่มพูนเงินทองให้ตัวเอง 

เริ่มต้นแม้กระทั่งเล่นหวยจากที่ไม่เคยเล่น ไปดูหมอดู โดนทักว่า "จะรวย" แรกๆ เธอไม่เชื่อ แต่เพราะคำหมอดูที่บอกว่า ให้หลัง 1 ปี เธอจะมีเงิน เวลาผ่านไปไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็ล้วนแปรเป็น "เงิน" ได้สมคำทำนาย
เธอยังยกตัวอย่างวิธีทำเงิน เมื่อมีการประมูลจานชามของกรมศุลกากร ทุกคนก็แย่งถ้วยโถโอชามจากจีน แต่จานชามพอร์ซเลนจากประเทศเยอรมัน กลับถูกเมิน ไม่มีใครสนใจไยดี แต่เธอก็ประมูลมาด้วยเงิน 5 หมื่นบาท เพื่อนำไปขายต่อ 200 บาท 500-800 บาทต่อชิ้น ลูกค้ายอมซื้อหมด สุดท้ายได้เงินมาถึง 5 ล้านบาท หรือการซื้อสร้อยไข่มุกมาเป็นกระสอบ นำมาขายเส้นละ 500 บาท

\"เจ๊เล้ง\" มังกรซ่อนหวาน (แต่เจ็บ)
ใจใหญ่ใจนักเลงใจถึงพึ่งได้!
\"สนุกกับการทำงาน อะไรไม่ดีต้องตัดทิ้ง\"



"ตอนนั้นหยิบอะไรเป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด" เธอย้ำ
นอกจากหัวการค้าที่เป็นพรสวรรค์แล้ว เจ๊เล้งยังเป็นคนที่ชอบลงพื้นที่สำรวจตลาดด้วยตัวเอง เมื่อเห็นสิ่งแปลกใหม่ ไม่มีขายในตลาด ก็จะนำมาผันเป็นเงิน สะท้อนให้เห็นถึงการทำตลาดสไตล์บ้านๆ
"เจ๊ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่เป็นคนชอบอ่านมาก" กลายเป็นการสั่งสมความรู้ติดตัวโดยปริยาย เมื่อเห็นอะไรก็แปรเป็น "โอกาส" เพื่อต่อยอดธุรกิจ
ส่วนที่มาของร้านเจ๊เล้ง ดอนเมืองอันเลื่องชื่อ เป็นเพราะมีคนต้องการขายตึก ซึ่งเธอก็ต่อราคาสะบั้นหั่นแหลก กว่าจะมี "เจ๊เล้ง พลาซ่า" ธุรกิจที่ทำเงินให้เธอเป็นกอบเป็นกำ
เธอยังเล่าถึงกลยุทธ์ในการทำธุรกิจให้ร่ำรวยว่า จะไม่ทำให้สินค้าใดสินค้าหนึ่งโดดเด่น หรือขายดีจนเกินไป เพราะนั่นเท่ากับว่าจะเป็นการ "ฆ่า" สินค้ารายการอื่น แต่ต้องไปทั้งองคาพยพ
เส้นทางธุรกิจยังไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อขายดีมีเงินและเป็นคน "ดัง" ย่อมถูกจับจ้อง โดยเฉพาะจากหน่วยงานรัฐ ข้าราชการ และนักการเมืองน้อยใหญ่ที่แวะเวียนถามหา เพื่อตรวจสอบยอดขาย การเสียภาษี กลายเป็นการเผชิญอุปสรรคใหญ่มากครึ่งหนึ่งในชีวิต
"ตอนนั้นพี่จะกินข้าวยังเห็นเป็นหนอนเลย กินไม่ลง จิตตกไปพักใหญ่"
ทว่า...สุดท้าย เจ๊เล้ง ตัดสินใจลุกขึ้น "สู้!!" เริ่มเปิดใจเข้าหาหน่วยงานรัฐ โดยให้สามีที่เก่งบัญชีเป็นคนแจกแจงตัวเลขให้รัฐเห็นกันจะๆ กว่าอุปสรรคจะผ่านพ้นไปได้ เรียกว่าเหนื่อย...แต่เพราะลูกฮึด สู้และไม่ยอมแพ้ จึงผ่านปัญหานี้ไปได้ ปลุกปั้นธุรกิจจำหน่ายเครื่องสำอางจนเป็นเจ้าแม่ดิวตี้ฟรี

\"เจ๊เล้ง\" มังกรซ่อนหวาน (แต่เจ็บ)
ใจใหญ่ใจนักเลงใจถึงพึ่งได้!
\"สนุกกับการทำงาน อะไรไม่ดีต้องตัดทิ้ง\"


วันนี้เจ๊เล้งกำลังขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ งัดที่ดินที่สะสมไว้ มาต่อยอดธุรกิจที่อยู่อาศัย ค้าปลีกฯลฯ วิธีการของเจ๊ยังน่าสนใจ โดยทุกโครงการที่ทำ มักจะตั้งงบประมาณ "สูง" ไว้ก่อน ป้องกันไม่ให้ตัวเอง "บาดเจ็บ" แล้วค่อยมาคุมต้นทุนให้ต่ำ หรือลดงบประมาณในภายหลัง นั่นจึงเป็นที่มาของโปรเจคอสังหาฯ ที่ลุยสร้างอพาร์ตเมนต์ 8 ตึก มูลค่า 3,000 ล้านบาท
ที่สำคัญการลงทุนของเศรษฐีนีครั้งนี้ เจ๊เล้งล้วนใช้ "กระแสเงินสด" จากคาถาประจำตัวที่ว่า Cash is Everything 
"ทำอะไรก็ได้ ต้องไม่เป็นหนี้ ทุกอย่างใช้เงินสด มีเงินต่อเงิน ไม่กู้แล้วจ่ายดอกให้เหนื่อย แต่รุ่นลูกต้องให้เป็นหนี้" นี่เป็นพื้นฐานจากที่เธอทำงานจริงจัง ประหยัด และไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
แม้จะใช้เงินจำนวนมากเพื่อพัฒนา "บิ๊ก" โปรเจค แต่เธอยังเจียดเงินซื้อที่ดินสะสมต่อเนื่องเพื่ออนาคต เธอบอกพร้อมรอยยิ้ม
นอกจากการขยับขยายธุรกิจใหม่ในรอบ 40 ปี เจ๊เล้งยังเริ่มผ่องถ่ายธุรกิจให้ "ทายาท" 4 สาวมาสืบทอดต่อบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กิตติ์รวี อภิสิทธิ์อมรกุล, ธัญรัศม์ อภิสิทธิ์อมรกุล, ภัทรานิษฐ์ ลาภชีวะสิทธิฉัตร และณัฐสินี ลาภชีวะสิทธิฉัตร โดยลูกสาวคนที่ 3 (ภัทรานิษฐ์) ดูเหมือนจะใกล้ชิดกับแม่มากที่สุดในเรื่องของธุรกิจ เพราะต้องคอยประสานกับการสั่งซื้อสินค้าในต่างประเทศให้ทางร้านมาโดยตลอด 
ขณะที่ลูกคนอื่นๆก็ดำเนินธุรกิจนำเข้ากระเบื้องจากต่างประเทศ รุกงานโปรเจคอสังหาฯ คนรองทำธุรกิจค้าขาย (Trade) ทองแท่ง ส่วนคนเล็กยังเรียนอยู่ต่างประเทศ

\"เจ๊เล้ง\" มังกรซ่อนหวาน (แต่เจ็บ)
ใจใหญ่ใจนักเลงใจถึงพึ่งได้!
\"สนุกกับการทำงาน อะไรไม่ดีต้องตัดทิ้ง\"


"ลูกเรียนและทำงานที่ต่างประเทศ พี่ไม่ได้กำหนดว่าปีไหนเขาจะต้องกลับมาช่วยงานที่บ้าน แต่จะให้ลูกๆไปทำธุรกิจที่อื่นให้อยู่ตัวก่อน แล้วค่อยเรียกกลับช่วยงานที่บ้าน เมื่อ Success แล้ว ค่อยย้อนกลับมา เพราะถ้าไม่สำเร็จ แสดงว่าเขารู้ไม่จริง" เธอเผยเคล็ดลับสอนลูก
แม้ลูกจะเข้ามามีบทบาทขยายอาณาจักรเจ๊เล้ง แต่ปัจจุบันเธอยังไม่ยอมหยุดพัก โดยย้ำว่า...
"เพราะพี่สนุกกับการทำงาน เวลาทำจริงๆ อาจมีเรื่องเครียด เพราะทุกอย่างไม่ได้ Perfect แต่อะไรที่ไม่ดีก็ต้องตัดทิ้ง แล้วทำตัวเองให้มีความสุข ไม่ควรรับรู้ หรือนำสิ่งที่ไม่ดีมาไว้เก็บในใจ วันนี้อยากทำอะไรทำ ทำแล้วต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น และไม่ให้ลูกหลานมาเดือดร้อนกับเรา"
ในเมื่อไม่เหนื่อยกับการทำงาน อะไรเป็นสิ่งที่หญิงแกร่งอย่างเธอต้องการทำในวันข้างหน้า คำตอบกลับไม่ใช่เรื่องทางธุรกิจ เจ๊เล้ง ต้องการทำบ้านพักผู้สูงอายุ ที่จะครบครับทั้งคลินิกหรืออาจเป็นโรงพยาบาล มีแพทย์คอยดูแลผู้สูงวัย รวมทั้งการทำศูนย์วิปัสสนาให้เป็นทั้งแหล่งพักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวไปในตัว
"เพราะคนเราเมื่อแก่ตัวลงค่อนข้างโดดเดี่ยว ลูกหลานแข่งขันกันทำมาหากิน ก็อยากจะหาที่ในกรุงเทพฯ มาทำบ้านพักผู้สูงอายุ ศูนย์วิปัสสนา"
นั่นอาจเป็นรูปธรรมที่อยากทิ้งไว้ แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมในหนทางข้างหน้า เมื่อหมดแรงทำสิ่งต่างๆ เป้าหมายสูงสุดที่เจ๊เล้งตั้งไว้กลับเป็นเรื่อง "การโจษจันท์"
"พี่ต้องการให้คนพูดถึงพี่ในทางที่ดี ก็เพียงพอแล้ว เพราะสิ่งที่ทำมาในอดีตจวบจนวันนี้ถือว่า Success แล้ว" 
 ขอบคุณข้อมูล นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

logoline