svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

Blockchain กำลังพลิกผันอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต

27 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รูปแบบการทำธุรกรรมแบบ peer-to-peer ที่มีประสิทธิภาพ กำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วโลกว่า มันกำลังเข้ามาเปลี่ยน Business model ในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งในขณะนี้เป็นที่จับตามองกันว่า Blockchain จะเป็นเทคโนโลยีพิเศษสำหรับแพลตฟอร์มในการทำธุรกรรมแบบ peer-to-peer ที่มีการบันทึกข้อมูลรายการธุรกรรมทั้งหมดแบบกระจายศูนย์ โดย Blockchain ได้ถูกนำมาใช้จริงเป็นครั้งแรกในภาคการเงิน เพื่อใช้เป็นพื้นฐานสำหรับเงินดิจิทัล (cryptocurrency) อย่างเช่น "Bitcoin" นั่นเอง

แอพพลิเคชันใหม่ๆ มากมาย กำลังเกิดขึ้นมาเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงานของเทคโนโลยีนี้ ได้แก่ การกระจายข้อมูลในการทำธุรกรรมออกเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีศูนย์กลางอยู่ที่ใดที่หนึ่ง (Decentralized) ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันการควบคุมจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างที่เกิดขึ้นในสกุลเงินที่ใช้ในปัจจุบัน โดยการบูรณาการกลไกต่างๆ ที่ช่วยให้การทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง โดยอาศัยหลักการ Decentralized โดยกลไกเหล่านี้เรียกว่า "smart contracts" ที่ดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้เฉพาะ (เช่น ข้อกำหนดเฉพาะเกี่ยวกับปริมาณ คุณภาพ และราคา) ที่ช่วยให้สามารถจับคู่ผู้จำหน่ายแบบกระจายศูนย์และลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง
การลดต้นทุน, การมีกระบวนการทำงานที่รวดเร็ว และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้เทคโนโลยี Blockchain สามารถตอบโจทย์ทั้งหมดได้ โดยมีรูปแบบการทำธุรกรรมที่ไม่ต้องอาศัยตัวกลาง อย่างเช่น ธนาคาร การแลกเปลี่ยนเงินตรา แพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนในบริษัทด้านพลังงาน เป็นต้น และใช้ประโยชน์จากระบบกระจายศูนย์ (เช่น ลูกค้า, ผู้บริโภคพลังงาน)
ในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ที่เคยอาศัยตัวกลางในการให้บริการ จะไม่จำเป็นต้องใช้ตัวกลางในการให้บริการอีกต่อไป ซึ่งตามทฤษฎี Blockchain ที่กำหนดว่าการทำธุรกรรมสามารถเริ่มต้นและดำเนินการได้โดยตรงระหว่างผู้ใช้งาน (peer to peer) โดยสามารถลดค่าใช้จ่าย และทำให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้ทั้งระบบมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้งานส่วนใหญ่ยังเป็นระบบ manual แต่ในขณะนี้มีการดำเนินการด้วยระบบอัตโนมัติผ่าน smart contracts เกิดขึ้นจริงแล้ว
แต่ก็ยังมีอุปสรรคที่ขัดขวางการใช้งานแอพพลิเคชัน Blockchain โดยในทางทฤษฎีนั้น Blockchain  ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางหรือผู้ประสานงานกลางอีกต่อไป ความขัดแย้งต่างๆจะต้องได้รับการแก้ไขโดยใช้หลักของคนหมู่มาก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะนำรูปแบบดังกล่าวไปปฏิบัติ เพราะอำนาจของตัวกลางเดิมที่มีอำนาจอยู่ในตลาด ยังคงมีความพยายามต่อต้าน และนอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดทางกฎหมายและกฎระเบียบหลายประการ ที่โครงการ Blockchain จะต้องทำตาม อีกทั้งเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจริงที่อยู่เบื้องหลัง Blockchain อาจจะยังไม่สมบูรณ์ และยังคงต้องมีการพัฒนาอีก 2-3 ปีจึงจะสมบูรณ์ในทางปฏิบัติ
ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นในการพัฒนา Blockchain โดยบริษัท Startup บางรายเริ่มเข้าสู่ตลาดด้วยการประยุกต์ใช้ Blockchain โดยในภาคส่วนพลังงาน มีโครงการนำร่องจำนวนไม่มากนัก ที่กำลังทดลองใช้เทคโนโลยีนี้ ซึ่งบางโครงการจะได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น ในนิวยอร์ก ในเดือนเมษายนปี 2016 พบว่าพลังงานที่สร้างขึ้นตามบ้านเรือน สามารถขายให้กับเพื่อนบ้านได้โดยตรงโดยการใช้ Blockchain เป็นครั้งแรก โดยมีเป้าหมายคือการสร้างระบบพลังงานจากที่ต่างๆ ที่มีข้อตกลงในการจัดหาพลังงาน ที่ทำขึ้นโดยตรงระหว่างผู้ผลิตพลังงานกับผู้บริโภคพลังงาน โดยไม่เกี่ยวข้องกับตัวกลาง และสามารถดำเนินการได้โดยอัตโนมัติ
คำว่า prosumer กำลังเป็นคำพูดที่จะใช้กันมากขึ้น ซึ่ง prosumer ก็คือ ผู้บริโภค (consumer) ที่มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในการผลิตสินค้า หรือเป็นผู้ผลิตสินค้า (producer) เอง โดยที่เทคโนโลยี Blockchain จะช่วยเสริมบทบาททางการตลาดของผู้บริโภคและผู้ผลิตรายย่อย ซึ่งจะช่วยให้ prosumer อย่างเช่น ครัวเรือนที่ไม่เพียงแต่มีการบริโภคอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถผลิตพลังงาน เพื่อการซื้อและขายพลังงานโดยตรงได้อย่างอิสระ
ในปัจจุบันกรอบการดำเนินงานด้านกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ สำหรับผู้บริโภคและ prosumer ในอุตสาหกรรมพลังงาน ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน และให้การคุ้มครองแก่ผู้บริโภคในหลายระดับ อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะยาว กรอบการดำเนินงานนี้อาจจะต้องมีการปรับปรุง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของรูปแบบการทำธุรกรรมแบบกระจายศูนย์ (decentralized transaction model) ให้เกิดขึ้นจริงในเชิงพาณิชย์
เทคโนโลยี Blockchain นอกจากจะมีความเป็นไปได้ในการนำมาประยุกต์เป็นแพลทฟอร์มเพื่อการทำธุรกรรมในด้านพลังงานแล้ว ยังเป็นพื้นฐานสำหรับกระบวนการวัด (metering) การเรียกเก็บเงิน (Billing) และแอพพลิเคชั่นที่เป็นไปได้อื่นๆ ได้แก่ เอกสารเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของสถานะของสินทรัพย์ (หรือการจัดการสินทรัพย์) การค้ำประกัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพลังงานทดแทน เป็นต้น นั้นจึงหมายความว่า เทคโนโลยี Blockchain มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในภาคพลังงานอย่างสิ้นเชิง โดยการเริ่มต้นจากปัจเจกบุคคลก่อนเป็นอันดับแรก และในท้ายที่สุดก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงตลาดพลังงานทั้งหมดได้
เทคโนโลยี Blockchain ทำให้สามารถควบคุมเครือข่ายด้านพลังงาน ผ่าน smart contracts ซึ่งจะส่งสัญญาณไปยังระบบ เมื่อจะเริ่มต้นการทำธุรกรรม และจะขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อให้แน่ใจว่าพลังงานและการจัดเก็บพลังงาน จะถูกควบคุมโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ตัวอย่างเช่น เมื่อใดก็ตามที่มีการสร้างพลังงานมากเกินกว่าที่จำเป็น smart contracts จะสามารถนำมาใช้เพื่อให้แน่ใจว่าพลังงานส่วนเกินนี้ จะถูกส่งเข้าสู่ที่เก็บพลังงานโดยอัตโนมัติ ในทางกลับกัน พลังงานที่เก็บไว้ในที่จัดเก็บดังกล่าว สามารถนำไปใช้งานเมื่อใดก็ตามที่พลังงานที่ผลิตได้ไม่เพียงพอ ซึ่งวิธีการนี้ เทคโนโลยี Blockchain จะสามารถควบคุมเครือข่าย และอุปกรณ์ในการจัดเก็บพลังงานได้โดยตรง โดย smart contracts จะยังคงสามารถใช้เพื่อจัดการกับกิจกรรมและโรงไฟฟ้าแบบเสมือนได้อย่างสมดุล
Blockchain ที่กำลังสร้างความสั่นสะเทือนผู้นำอุตสาหกรรมการเงินรูปแบบดั้งเดิม ก็ถือว่าหนักหน่วงอย่างมากแล้ว แต่หากวิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมใดจะเป็นรายต่อไปที่ Blockchain จะมาพลิกผันรูปแบบอย่างสิ้นเชิง? คำตอบคือ "พลังงาน" นั่นเอง และแน่นอน ภายในหนึ่งทศวรรษ เราอาจจะได้เห็น Uber Energy เป็นที่ทะเลาะเบาะแว้งกันในภาคพลังงานก็เป็นได้




พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
www.เศรษฐพงค์.com
LINE id : @march4g

logoline