svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

"PRIMETIME กับ เทพชัย" : ในหลวงกับวงการสื่อ PART 3

20 พฤศจิกายน 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

26 มิถุนายน 2514 เป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของวงการสื่อมวลชนไทยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคาร ที่ทำการสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นวันที่ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของทุกคนในวงการสื่อมวลชนอย่างไม่มีวันลืม ถึงแม้เวลาจะผ่านมาแล้วกว่า 45 ปีแล้วก็ตาม และสำหรับนักหนังสือพิมพ์อาวุโสที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์วันนั้น มันเป็นวันที่ตอกย้ำอย่างสิ้นข้อสงสัยว่าบทบาทของสื่อมวลชนเป็นเรื่องที่อยู่ในพระเนตรพระกรรณของพระองค์ตลอดเวลา

สถานที่ตั้งของสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยมีความหมายมากเป็นพิเศษ เพราะได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้สร้างอาคารที่ทำการ ขึ้นในที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บนเนื้อที่กว่า 5 งาน บนถนน นครราชสีมาเหนือ หรือถนนสามเสน ในปัจจุบัน ในปี 2508  โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2512 คงไม่มีคำพูดไหนอีกแล้วที่สร้างความปลาบปลื้มให้กับคนในวงการสื่อมวลในขณะนั้นไปกว่าที่พระองค์ทรงตรัสกับนายเสถียร พันธรังษี นายกสมาคม หลังจากสเด็จมาถึงก่อนหมายกำหนดการในวันวางศิลาฤกษ์ ความว่า "ฉันถึงก่อนเวลาที่กำหนด เพราะฉันเกรงจะมาไม่ทันเวลาฤกษ์  จึงต้องรีบมาให้ถึงก่อนเวลา" หลังจากนั้นทรงมีพระราชปฏิสันถานกับบรรดาสื่อมวลชนทุกแขนงที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ  


2 ปีหลังจากการวางศิลาฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนิน มาทรงประกอบพิธีเปิดที่ทำการสมาคม และในวันประวัติศาสตร์วันนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัส พระราชทานแก่สมาชิกสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ความสำคัญตอนหนึ่งว่า "งานสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะงานหนังสือพิมพ์ เริ่มขึ้นในประเทศของเราช้านานแล้ว และมีประวัติการณ์อันน่าสนใจมาแต่ต้น นักหนังสือพิมพ์ไทย ทุกรุ่นทุกสมัย พยายามที่จะทำหน้าที่บริการประชาชน เพื่อให้ประชาชนยอมรับนับถือผลงานที่ประจักษ์แล้ว ควรจะเป็นกำลังใจให้แต่ละคนทำงานและทำตัวให้ดียิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้ควรกับความยกย่องนับถือของมหาชน ทั้งควรกับหลักการและจรรยาอันสูงในอาชีพของนักหนังสือพิมพ์ นักหนังสือพิมพ์เป็นผู้เสนอข่าวสารความรู้ความคิดเห็น รวมทั้งเป็นปากเสียงแทนผู้อื่น ทุกเรื่องทุกสิ่ง ที่ท่านนำลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แพร่หลายไปได้ โดยรวดเร็วและกว้างขวางอย่างไม่มีขอบเขต จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จักต้องปฎิบัติงานด้วยความตั้งใจ ด้วยความพิจารณาที่รอบคอบ ด้วยความสุจริตยุติธรรม และด้วยความสำนึกในความรับผิดชอบเป็นพิเศษอยู่เป็นนิตย์"


ในวันประวัติศาสตร์วันนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังได้ทรงแสดงพระมหากรุณาธิคุณที่ยังสร้างความปลาบปลื้มให้กับนักสื่อสารมวลชนมาจนถึงทุกวันนี้ คณะกรรมการสมาคมและสมาชิก ได้วางแผนที่จะสร้างความประทับใจให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ด้วยการถวายภาพข่าวที่ถ่ายในวันงานให้พระองค์ แต่ปรากฏว่า ทั้งสองพระองค์ กลับแสดงพระมหากรุณาธิคุณและสร้างความประทับใจให้ยิ่งกว่า ไม่มีใครคาดคิดว่า ทั้งสองพระองค์ จะเสด็จฯ ขึ้นไปทอดพระเนตร "ห้องมืด" ซึ่งเป็นห้องเฉพาะกิจที่กรรมการสมาคมได้ประกอบขึ้นเพื่อใช้ล้างและอัดภาพ "ข่าวด่วน"  ที่บันทึกไว้เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเป็นสมุดประมวลเรื่องและภาพในงานวันนั้น นับตั้งแต่เสด็จฯลงจากรถยนต์พระที่นั่งเข้าสู่ปะรำพิธี   จนถึงภาพทรงกดสวิทช์ไฟฟ้าเพื่อเปิดแพรคลุมป้ายชื่อสมาคม 


ไม่เฉพาะเรื่องอาคารที่ทำการเท่านั้น  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม  รับเอาสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทั้งได้พระราชทานถ้วยรางวัลแก่สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ในการประกวดรางวัลภาพข่าวสื่อมวลชนยอดเยี่ยมประจำปี เป็นประจำเสมอมา และพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ต่อสื่อมวลชน ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังครอบคลุมถึงร่างกฏหมายแพ่งของรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน ที่มีเป้าหมายในการลงโทษสื่อในคดีหมิ่นประมาทด้วยการกำหนดการชดใช้ค่าเสียหายไว้สูงถึง  4 ล้าน    ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านการเห็นชอบของสภาในปี 2535  แต่พระองค์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย  จนในที่สุดรัฐบาลขณะนั้นก็ไม่กล้าประกาศใช้ 

       

ทั้งนักข่าวและช่างภาพต่างก็มีเรื่องราวของความประทับใจที่เกิดขึ้นระหว่างการทำหน้าที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช   ในสายตาของนักสื่อสารมวลชนเหล่านี้   พระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตา และทรงเข้าพระทัยในงานของสื่อมวลชนเป็นอย่างดี   ถึงแม้บางครั้งอาจจะเกิดการกระทำอันมิบังควรต่อหน้าพระพักตร์ แต่พระองค์ท่าน มิได้ทรงถือโทษโกรธกริ้วแต่ประการใด แถมยังทรงแสดงพระอารมณ์ขันหรือทรงหยอกล้อด้วยซ้ำ 


พระบรมราโชวาทแต่ละองค์ที่ได้พระราชทานแก่สื่อมวลชน ล้วนแฝงด้วยข้อคิดและมีแนวปฏิบัติที่ตั้งมั่นอยู่ในหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ   พระองค์ทรงเน้นเรื่องจริยธรรม ให้สื่อมวลชนเสนอข่าวตามความเป็นจริง รวมทั้งการให้งดเว้นการพูดการเขียนโดยไม่ยั้งคิด เพราะแม้จะเป็นเพียงคำสองสามคำ ก็อาจเป็นการทำลายงานของผู้ปรารถนาดีที่เขาสร้างขึ้นมาด้วยความยากลำบากลงไปได้


ความสนพระทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อวงการสื่อสารมวลชน ยังเป็นที่ประจักษ์ชัด อย่างต่อเนื่องตลอดมา เราเคยดูพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชาผ่านสื่อ แต่อีกด้านหนึ่ง พระองค์ก็เคยทำงานสื่อ ที่มีเงินเดือน 100 บาท ย้อนหลังไปกว่า 70 ปีที่แล้ว ภาพถ่าย ฝีพระหัตถ์ พร้อมข่าวที่พระองค์ท่านทรงบันทึกไว้ ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สแตนดาร์ด หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ภาษาอังกฤษ ฉบับแรกของประเทศไทย ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ในปี 2483 ภาพถ่ายและข่าวส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในขณะนั้น 


พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสด้วยพระอารมณ์ขันกับผู้ใกล้ชิดถึงบทบาทการเป็นช่างภาพอาชีพของพระองค์ว่า "ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์สแตนดาร์ด ได้เงินเดือน 100 บาท ตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นเขาขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายเดือนละ 100 บาทอยู่เรื่อยมา" 


อัศศิริ ธรรมโชติ นักหนังสือพิมพ์และศิลปินแห่งชาติ  เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัส ไว้ครั้งหนึ่งว่า หน้าที่ของคนหนังสือพิมพ์ กับหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินนั้น มีลักษณะอย่างหนึ่งเป็นเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ หน้าที่ในการสร้างความเข้าใจอันดี และถูกต้องให้เกิดขึ้นในหมู่คนประชาชนทั่วไป การแพร่ข่าวโดยขาดความระมัดระวัง แม้แต่เพียงนิดเดียวก็สามารถทำร้ายทำลายผู้อื่นให้ถึงตายได้ เปรียบเหมือนกับฟองอากาศนิดเดียวแต่ถ้าหลุดเข้าไปในเส้นเลือด ก็สามารถปลิดชีวิตคนได้ทั้งคน แสดงให้เห็นว่า ทรงเข้าพระราชหฤทัยเกี่ยวกับอิทธิพลของสื่อได้อย่างลึกซึ้ง จึงทรงเตือนอยู่เสมอว่า ให้ตระหนักถึงหน้าที่ และงานที่ต้องมีความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่นี้


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญการสื่อสารกับพสกนิกรโดยตรง  นี่จึงเป็นที่มาของ สถานีวิทยุ "อัมพรสถาน" ถึงแม้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจต้องทรงงานอย่างหนักเพื่อพสกนิการ  แต่พระองค์ท่านก็ยังทรงสนพระทัยศึกษาและติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกอย่างจริงจัง  เพราะฉะนั้นเราสามารถพูดด้วยความมั่นใจว่าพระองค์ท่านเป็นกษัตริย์ที่ทรงรอบรู้ความเป็นในโลกนี้มากที่สุดพระองค์หนึ่ง    โดยทรงอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศตลอดเวลา 


แถมสิน รัตนพันธุ์ คอลัมนิสต์ชื่อดัง เคยเขียนไว้ในคอลัมน์  "ลัดดา ซุบซิบ" ว่า "ทรงโปรดทอดพระเนตรหนังสือพิมพ์รายวัน ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อทราบความเดือดร้อน ของพสกนิกร และหาทางช่วยเหลือขจัดปัดเป่า นิตยสารต่างประเทศที่ทรงอ่านประจำคือ ไทม์   นิวสวีก  เอเชียวีก  ฟาร์อีสเทิร์นอีโคโนมิกรีวิว  นิตยสารปารีมัช ของฝรั่งเศส  เวิลด์ วอทช์ ที่จับประเด็น เรื่องลุ่มลึกหลากหลาย ที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของโลก


ความรอบรู้และพระราชปฎิภาณ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้เมื่อพระองค์ถูกสัมภาษณ์โดยสื่อต่างประเทศหลายครั้งหลายครา กลับทำให้เกิดความประทับใจต่อพระมหากษัตริย์ของไทยอย่างยิ่ง พระราชดำรัสตอนหนึ่ง ที่สมาคมหนังสือพิมพ์ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อครั้งเสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกา แสดงถึงน้ำพระทัยที่มีต่ออาชีพสื่อ ความว่า "หน้าที่ของคนหนังสือพิมพ์ กับหน้าที่พระเจ้าแผ่นดินนั้น มีลักษณะอย่างเดียวกัน คือทำให้เกิดความเข้าใจอันดีและถูกต้องขึ้นในมวลชน ข้าพเจ้าเองก็พยายามทำหน้าที่นี้เช่นกัน ชั่วแต่ว่าต้องทำด้วยพิธีรีตองและยศอย่างมากไปหน่อยตามธรรมเนียม" 


พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับองค์กรสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ กว่า 20 ฉบับ ได้เน้นย้ำถึงหลักจริยธรรมในวิชาชีพ ให้เป็นหลักในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน....

logoline