svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"5 แนวทาง ไม่ต้องจ่าย"ค่าโง่คลองด่าน "

27 พฤษภาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยังเป็นที่จับตามองว่า ค่าโง่บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ จ่ายให้กับ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG เป็นเงินกว่า 9 พันล้านบาท รัฐจะมีหนทางใดบ้างที่จะพลิกสถานการณ์ในการที่จะไม่ต้องจ่ายเงิน

เพราะว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในปี 2557 แล้ว ต่อมา 17 พ.ย. 2558 คณะรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ได้มีมติอนุมัติงบกลางจ่ายให้กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ กว่า 9 พันล้านบาท แบ่งชำระเป็น 3 งวด  ประกอบด้วย งวดที่ 1   จำนวน 40%  ภายใน 21 พ.ย.58 เป็นเงินบาทจำนวน 3,174.58 ล้านบาท และเป็นเงินเหรียญสหรัฐ 21.71ล้านเหรียญ ,งวดที่ 2  จำนวน 30 % ภายใน 21 พ.ค. 59 เป็นเงินบาท 2,380.93 ล้านบาทและเป็นเงินเหรียญสหรัฐ 16.28 ล้านเหรียญ , งวดที่ 3 จำนวน 30% ภายใน 21 พ.ย. 59 เป็นเงินบาท 2,380.93 ล้านบาท เป็นเงินเหรียญสหรัฐจำนวน 16.28 ล้านเหรียญ   แต่เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 ปปง. ได้มีมติอายัดเงิน 2 งวด คือ งวดที่ 2  และงวดที่ 3 เอาไว้ก่อน โดยอ้างถึงคำพิพากษาของศาลอาญา เมื่อ 17 ธ.ค.2558 ที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งเป็นคดีที่พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อดีตอธิบดี,อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และอดีต ผอ. กองจัดการคุณภาพน้ำ ร่วมกันเป็นจำเลย ฐานใช้อำนาจในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งศาลพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 20 ปี และในคำพิพากษาคดีดังกล่าว ได้ระบุถึง  กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ด้วยว่า ได้บิดเบือนและปกปิดข้อเท็จจริงการเสนอแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต  ปปง.จึงอ้างเหตุที่ว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ร่วมทุจริต สั่งอายัดเงิน งวดที่ 2 และ 3 ที่รัฐต้องจ่ายให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ เอาไว้ก่อน  แต่สำหรับเงินงวดแรก จำนวน 3,174.58 ล้านบาท และ 21.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รัฐบาลได้จ่ายให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯไปแล้ว  ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงการคลังร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้รื้อคดีใหม่ โดยอ้างถึงคำสั่งอายัดของ ปปง.และคำพิพากษาของศาลอาญา ที่ระบุว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ร่วมทุจริตในโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

"5 แนวทาง ไม่ต้องจ่าย"ค่าโง่คลองด่าน "

 สรุปว่า ..ขณะนี้ มี 5 วิธี ที่รัฐไม่ต้องจ่ายค่าโง่คลองด่านกว่า 9 พันล้านบาท ให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ 1. กรณี ปปง. สั่งอายัดเงินงวดที่ 2 และงวดที่ 3 งวดละ  2,380.93 ล้านบาท และ 16.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นั้น  ปปง.ได้ให้โอกาสทาง กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ เข้าชี้แจงแสดงหลักฐานภายใน 30 วัน เพื่อแสดงความสุจริตในการเข้าเป็นคู่สัญญาก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งหากกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ชี้แจงแล้วฟังไม่ขึ้น ปปง. ก็จะยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อให้ยึดทรัพย์ คือ เงินทั้ง 2 งวด ตกเป็นของแผ่นดินต่อไป ผลก็คือ  รัฐไม่ต้องเงินงวดที่ 2 และ งวดที่ 3  ให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ   2. กรณีคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้กระทรวงการคลังร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้รื้อคดีที่ศาลปกครองสูงสุด ได้เคยมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ จ่ายเงินให้กับ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG เป็นเงินกว่า 9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ  โดยอ้างถึงคำพิพากษาศาลอาญาที่ระบุว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ มีส่วนร่วมทุจริตกับเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า มีเหตุให้รื้อคดีใหม่ได้ และพิพากษากลับ รัฐก็ไม่ต้องจ่ายเงินให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า ฯ สำหรับหลักเกณฑ์ที่จะเข้าข่ายรื้อคดีใหม่ได้ในศาลปกครองนั้น ต้องเป็นไปตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ จัดตั้งศาลปกครองและวิธิีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542  (1)ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลปกครองได้มีีคำ พิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองเสร็จเด็ดขาดแล้ว  คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีนั้น อาจมีคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้ หากมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้น เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ทั้งนี้ การยื่นคำขอให้พิจารณา พิพากษาคดี หรือมีคำสั่งใหม่ต้องกระทำภายใน 90 วัน นัับแต่วันที่ได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้พิจารณา พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาด 

"5 แนวทาง ไม่ต้องจ่าย"ค่าโง่คลองด่าน "


3.กรณี นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯและคณะบริหารสัญญาโครงการระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งอ้างว่าตนเองเป็นผู้มีส่วนได้เสียจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพราะหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาดังกล่าว  นายประพัฒน์กับพวกได้ถูกไล่เบี้ย โดยรัฐมีการตั้งกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ขึ้นมา เพื่อเอาผิดกับนายประพัฒน์ กับพวก ซึ่งเป็นคณะผู้บริหารสัญญาโครงการระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย  นายประพัฒน์ กับพวก จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ให้หยิบยกคดีการวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯ ขึ้นมาพิจารณามาใหม่ เพราะปรากฏหลักฐานใหม่จากคดีอาญา ที่ตัดสินจำคุกคนละ 20 ปี อดีตอธิบดีและอดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งส่อให้เห็นว่า มีการร่วมรู้เห็นกับเอกชนย่อมทำให้สัญญานั้นเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาไม่ชอบแต่ต้น และข้อเท็จจริงในคดีเปลี่ยนแปลงไป 4. คดีในศาลแขวงดุสิต ที่กรมควบคุมมลพิษ ยื่นฟ้อง นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย และกรรมการบริษัทในกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ NVPSKGเป็นจำเลย ฐานร่วมกันฉ้อโกงที่ดินกว่า 1,900 ล้านบาท และฉ้อโกงสัญญา มูลค่า 23,000 ล้านบาท  โดยฟ้องว่า เมื่อปี 2540 พวกจำเลย ร่วมกันนำที่ดิน ต.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ รวมเนื้อที่ 1,900 ไร่ ซึ่งเป็นคลอง, ถนนสาธารณะ และป่าชายเลน ที่มีการขอออกโฉนดโดยไม่ชอบ มาหลอกขายให้กับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อก่อสร้างโรงบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน คดีนี้ศาลฯ มีคำพิพากษาเมื่อปี 2552 ให้จำคุกนายวัฒนา กับกรรมการบริษัทในกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ฐานร่วมกันฉ้อโกงคนละ  3 ปี   ต่อมาเมื่อมีการอุทธรณ์ ในปี 2556 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับ เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่สุดท้ายหากศาลฎีกาพิพากษาเหมือนกับศาลแขวงดุสิต ว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ มีส่วนร่วมในการฉ้อโกงนำที่ดินมาหลอกขายให้กับกรมควบคุมมลพิษ  รัฐก็สามารถที่จะต่อยอดจากคดีนี้ ยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายจากกลุ่มกิจการร่วมค้า  ซึ่งทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายค่าโง่ให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ  

"5 แนวทาง ไม่ต้องจ่าย"ค่าโง่คลองด่าน "


5. คดีที่่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ , อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และ อดีต ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ  คนละ 20 ปี  ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ  เนื่องจากบุคคลทั้งสามร่วมกันทุจริตกับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ในการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการกับกรมควบคุมมลพิษ  ซึ่งหากคดีนี้สุดท้ายศาลฎีกา มีคำพิพากษาเหมือนศาลอาญา ทางรัฐก็สามารถต่อยอดยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายกับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ได้ ซึ่งทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายค่าโง่ อีกทั้งยังสามารถเรียกเงินงวดแรกที่รัฐจ่ายให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า ไปแล้วได้ด้วย "ณกฤช เศวตนันท์ อดีตที่ปรึกษาทางกฎหมายและทนายความที่เคยได้รับมอบหมายจากกรมควบคุมมลพิษ ดูแลคดีอาญาฉ้อโกง กล่าวว่า ขณะนี้รัฐไม่ควรพลาดซ้ำอีกในการที่จะชำระค่างวดให้กับเอกชนไปก่อนทั้งที่คดีอาญาในคดีศาลแขวงดุสิต ยังไม่ถึงที่สุด เพราะหากรัฐเลือกจ่ายเงินไปก่อนแล้ว ภายหลังหากศาลฎีกาพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษชนะคดีเอกชน ฐานฉ้อโกงแล้ว จะยากกับการเยียวยา จำเป็นที่สุด ที่รัฐควรรอผลคดีถึงที่สุด 
ส่วนที่รัฐมีแนวคิดจะให้รื้อฟื้นคดีใหม่ ภายหลังมีคำพิพากษาคดีอาญาจำคุก อดีตอธิบดีและอดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบรู้เห็นกับเอกชนบิดเบือนข้อเท็จจริงที่มีผลต่อสัญญาอีกคดี ก็เป็นอีกแนวทางที่กระทำได้และควรกระทำโดยมีเวลายื่นรื้อคดีภายใน 90 วัน นับจากวันที่รู้ถึงเหตุซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะมอบหมายให้หน่วยงานรัฐส่วนใดเป็นผู้ยื่น มีทั้งกรมควบคุมมลพิษ หรือกระทรวงการคลัง เพียงแต่น่าจะต้องมีผู้รับรู้เรื่องคดีตั้งแต่แรกช่วยกันดูข้อมูล ไม่ให้รัฐเกิดการพลาดอีก โดยก่อนหน้านี้นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมว.ทรัพยากรฯ และอดีตข้าราชการ ที่ถูกตั้งกรรมการสอบสวนรับผิดทางละเมิด ก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อพิจารณาใหม่เช่นเดียวกัน

"5 แนวทาง ไม่ต้องจ่าย"ค่าโง่คลองด่าน "


 " นับจากนี้ต้องรอฟังผลคำพิพากษาศาลฎีกา คดีฉ้อโกง ที่กรมควบคุมมลพิษ ยื่นฟ้องเอกชน หากชนะคดี กรมควบคุมมลพิษ สามารถที่จะยื่นฟ้องคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายจากกรณีที่เอกชนทำละเมิดเพราะทำผิดสัญญาและได้รับเงินงวดแรกไปแล้วประมาณ 4,000 ล้านบาทได้อีก ส่วนคดีอาญาซึ่งศาลอาญา พิพากษาจำคุกข้าราชการกรมควบคุมมลพิษที่คำตัดสินมีการวินิจฉัยส่วนที่เชื่อมโยงกับเอกชน ก็ควรมีช่องทางที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง จะร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบเอกชนว่าทำผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วยหรือไม่ ซึ่งคดีมีอายุความ 20 ปี นับจากที่มีการเซ็นสัญญาคือ ช่วง ส.ค.2540 ดังนั้นยังมีเวลาตรวจสอบจนถึง ส.ค.60 เรื่องนี้ไม่ควรตั้งธงว่าต้องจ่ายเงินก่อน แต่ควรมองทุกอย่างให้รอบคอบ ครบถ้วน อย่าให้ หน่วยงานอย่าง กรมควบคุมมลพิษที่เป็นเพียงนิติบุคคล ต้องจ่ายค่าโง่จริงๆ จากความผิดพลาดของผู้มีอำนาจหรือผู้สั่งการ "ณกฤช ระบุ ถ้ารัฐไม่ต้องจ่าย ค่าโง่ คลองด่านที่มีจำนวนมหาศาล ก็เท่ากับ ประหยัดงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของประชาชน ไปได้ มากโข

logoline