svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ทีดีอาร์ไอ แนะรัฐเร่งปฏิรูปสังคมผู้สูงอายุ

24 พฤศจิกายน 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 เรื่อง ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า : สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยแนะให้เร่งปฏิรูปภาครัฐรองรับสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบปี 2568 ห่วงรายได้ต่อหัวต่ำกว่าประเทศอื่น

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่าในช่วงกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2504-2539 เศรษฐกิจไทยยกระดับสูงขึ้นจากการสนับสนุนของการลงทุนจากต่างประเทศ และ การผลิตเพื่อส่งออก ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ย 7.6%

แต่หลังเกิดวิฤติเศรษฐกิจปี 2540 จนถึง 2556 เห็นชัดว่าเศรษฐกิจเติบโตลงชัดเจนเฉลี่ยที่ 3% โดยในช่วง 2 ปีมานี้ เห็นชัดว่าแม้ภาวะการค้าโลกจะขยายตัว แต่การส่งออกของไทยกลับมีมูลค่าลดลงต่อเนื่องเพราะปัญหาเชิงโครงสร้าง และในอนาคตเป็นห่วงว่าการที่ประเทศไทย จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ในปี 2568 หรือ อีก 3 ทศวรรษข้างหน้า จะมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

เนื่องจากมีคนในวัยแรงงานลดลง ขณะที่รัฐต้องเตรียมวางแผนด้านสวัสดิการดูแล ซึ่งต้องเตรียมการวางแผนการจัดเก็บภาษีให้เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันฐานการจัดเก็บรายได้ยังต่ำมากมีสัดส่วนเพียง 7% ต่อจีดีพี

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI กล่าวว่า ปัจจุบันความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลให้ทุกภาคส่วนมองแต่การแก้ไขปัญหาในระยะยาว แต่ในความเป็นจริงการวางโครงสร้างในระยะยาวทั้งด้านการเงิน การคลัง การค้า การลงทุน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และด้านสังคม เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

เพราะมีการคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า จะมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านคน ซึ่งจะเป็นจุดท้าทายที่ไทยต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เนื่องจากคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบในปี 2568 ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานขั้นรุนแรง ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่ประสบปัญหานี้มากที่สุดเพราะระบบประกันสังคมจะมีผลการดำเนินงานขาดทุนจนไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้

ดังนั้น จึงต้องมีการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ มองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยในการวางโครงสร้างประเทศในระยะยาว คือ ต้องปฏิรูปภาครัฐอย่างจริงจัง

โดยภาครัฐจะต้องเปลี่ยนแปลง ด้วยการเปิดกว้าง มีวินัย และ กระจายอำนาจมากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องพัฒนาเพื่ออนาคต ด้วยปัจจัย 4 ด้าน ประกอบด้วย การมีทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง การจัดสรรเงินทุนใหัเกิดผลิตภาพ รัฐบาลต้องมีประสิทธิภาพ

และ ระบบเศรษฐกิจเปิดกว้าง ทั้งนี้ ยอมรับว่าหากประเทศไทยยังไม่พัฒนาตัวเองจะทำให้การพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางช้าลง ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 17,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2588 โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ จะเฉลี่ยเพียง 3.55% ต่อปี ซึ่งถือว่าต่ำมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
TDRI ชี้การปฎิรูปภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญสุดในการเปลี่ยนไทยเข้าสู่ประเทศเกษตรทันสมัย เพื่อหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางในปี 2571 หลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ 3 ปี

ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กล่าวในงานสัมนา"ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า:สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ"ในช่วงเช้าวันนี้ ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2568 และในอีก 30 ปีสังคมไทยจะมีผู้สูงอายุถึง 36%

หากไม่สามารถหลุดพ้นกับดักปานกลางได้ ไทยจะเป็นประเทศแรกๆในเอเชียที่แก่ก่อนรวย และแก่โดยไม่มีสวัสดิการเพียงพอ เพราะกองทุนประกันสังคมจะมีปัญหาถึงขั้นล้มละลายในปี 2588 หากไม่มีการปฎิรูป

ทึ่ผ่านมาไทยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่พัฒนาเทคโนโลยี เน้นส่งออกโดยกดค่าแรงใหัต่ำเพื่อให้แข่งขันได้ และไม่รักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงต้องปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มบนฐานนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

การเปลี่ยนมาสู่ประเทศเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้ โดยใช้เครื่องจักร มีการวิจัยพัฒนา ผลิตอาหารปลอดภัย อป ดเสรีภาคบริการโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และพัฒนาแรงงานให้มีทักษะคุณภาพสูง จะทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มเป็น 28,400 ดอลลาร์ในปี 2588 จาก 5,480 ดอลลาร์ในปัจจุบัน และมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 5.2% ต่อปี

ขณะที่ภาคบริการจะมีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นสัดส่วน 59.3% ของจีดีพี จาก 49.8% ในปัจจุบัน ส่วนจีดีพีภาคเกษตรลดเหลือ 3.8% จาก 12.3% สามารถหลุดพ้นรายได้ปานกลางในปี 2571 หรือหลังเข้าสู่สังคมสูงอายุเพียง 3 ปี

การเป็นประเทศเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้ ต้องมีปัจจัย 4 ด้าน คือ ทุนมนุษย์คุณภาพสูง การจัดสรรเงินทุนเพื่อก่อให้เกิดผลิตภาพ รัฐมีประสิทธิภาพ และระบบเศรษฐกิจเปิดกว้างและการเปลี่ยนผ่านจะราบรื่นได้จำเป็นต้องมีภาครัฐที่เปิดกว้าง มีวินัยและกระจายอำนาจ สามารถประสานนโยบายภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปฎิรูปภาครัฐจึงเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนผ่านในอีก 3 ทศวรรษ

logoline