svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"อัยการ"ยันคดีบอสสิ้นสุด - รื้อต้องมีหลักฐานใหม่

01 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มีประเด็นที่หลายฝ่ายถกเถียงกันอย่างมากว่าคดีนายบอสขับรถชนตำรวจตาย สิ้นสุดลงหรือยัง และถ้าจะรื้อคดีขึ้นมาใหม่ มีช่องทางอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบจาก "คนอัยการ" มาฝากกัน เป็นคำตอบแบบฟันธงที่ชัดเจนที่สุดแล้ว

ประธานคณะกรรมการอัยการ หรือ ก.อ. นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ซึ่งเป็นอดีตอัยการสูงสุดด้วย ให้สัมภาษณ์พิเศษ "เนชั่นทีวี" ในประเด็นนี้ โดยบอกว่า คดีนี้้ถือว่าอัยการ "มีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว" เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา มาตรา 145/1 คือคดีที่อัยการที่ไม่ใช่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง ให้ส่งสำนวนกลับมาที่ฝ่ายตำรวจ และถ้าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองฯ หรือผู้ช่วยฯ ไม่ทำความเห็นแย้ง คดีก็จะสิ้นสุดในส่วนที่เป็นกระบวนการของตำรวจกับอัยการ 
การจะรื้อคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่มีช่องทางเดียวเท่านั้น คือต้องมีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญอันน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ / ช่องทางนี้เป็นไปตาม ป.วิอาญา มาตรา 147 / ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีการใช้ช่องทางนี้มาแล้วในคดีเกี่ยวกับซาอุดิอาระเบีย (รายละเอียดของคดี ประธาน ก.อ.ไม่ได้พูดเอาไว้ แต่เนชั่นทีวีไปสืบค้นมา และพบว่าหมายถึงคดี อุ้มฆ่า นายอัลลูไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นคดีสืบเนื่องจากคดีเพชรซาอุฯ) โดยคดีนี้อัยการเคยมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปแล้ว แต่ภายหลังมีพยานหลักฐานใหม่ พนักงานสอบสวนก็ส่งสำนวนพร้อมหลักฐานใหม่มาให้อัยการมีคำสั่งใหม่ได้ เพียงแต่คดีนี้เมื่อไปถึงชั้นศาล ปรากฏว่าศาลยกฟ้อง 

สำหรับช่องทางการให้ครอบครัวผู้เสียหายยื่นฟ้องเองนั้น นายอรรถพล บอกว่า จริงๆ แล้วกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ คือให้บุพพการี หมายถึง พ่อแม่-ปู่ย่า-ตายาย, ผู้สืบสันดาน ซึ่งหมายถึง ลูก-หลาน-เหลน-ลื้อ และสามีหรือภรรยา สามารถกระทำการแทนผู้เสียหายที่เสียชีวิตไปแล้วได้ 
แต่ทราบว่า ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ตายในคดีนี้ ไม่มีทั้งบุพพการี ผู้สืบสันดาน และภรรยา จึงไม่มีช่องทางให้ครอบครัวยื่นฟ้องเอง ฉะนั้นก็ต้องรอหลักฐานใหม่จากทางตำรวจ ขณะที่อัยการไม่สามารถรื้อฟื้นเองได้ เนื่องจากระบบอัยการไทย ไม่มีอำนาจสอบสวนเหมือนในต่างประเทศ 

สำหรับ ป.วิอาญา มาตรา 28 บัญญัติว่า บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล (1) พนักงานอัยการ (2) ผู้เสียหาย
ขณะที่มาตรา 5 บัญญัติว่า บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้ (2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้

logoline