svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ชง 3 ข้อเสนอจำกัดอำนาจ "อัยการสูงสุด-ผบ.ตร." สั่งคดี

29 กรกฎาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เลขาธิการพรรคประชาชาติ อดีตตำรวจมือพระกาฬ ชำแหละ ป.วิอาญา ชี้ช่องโหว่การสั่งคดี แนะรื้ออำนาจ "อัยการสูงสุด - ผบ.ตร." พร้อมชง 3 ข้อเสนอเปิดทาง "ฝ่ายที่ 3" ฟ้องคดีเองโดยตำรวจสนับสนุนพยานหลักฐาน เพื่อรักษาความยุติธรรมของประเทศนี้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ซึ่งเคยเป็นรองผู้บังคับการปราบปราม และอดีตอธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของอัยการในคดี นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต จนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการปฏฺิบัติหน้าที่ของอัยการและตำรวจว่า ประเด็นปัญหาของผู้มีอำนาจการสั่งสำนวนว่าต้องฟ้องหรือไม่ฟ้องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการกระทำของพนักงานสอบสวนเลย แต่กลับต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในสิ่งที่คนอื่นก่อขึ้น
พ.ต.อ.ทวี อธิบายว่า ในคดีอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนทำสำนวนเสร็จส่งพนักงานอัยการแล้ว พนักงานสอบสวนจะหมดอำนาจสอบสวนในคดีนั้นทันที จะทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้อย่างเดียวคือพนักงานอัยการมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม ข้อเท็จจริงที่ทราบจากคดีนายวรยุทธก็คือ อัยการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมหลายครั้ง ใช้เวลาพิจารณาสำนวนการสอบสวนอยู่ที่อัยการนานหลายปี จนในที่สุดอัยการจึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง (โดยรองอัยการสูงสุด) และ ผู้ช่วย ผบ ตร ไม่แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ คดีจึงสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา มาตรา 145

เรื่องนี้มีข้อเสนอแก้ไขปัญหาในชั้นพนักงานสอบสวนของตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ว่า ในชั้นพนักงานสอบสวน เห็นควรแก้ไขอำนาจสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้อง หรืองดการสอบสวน จากที่เป็น "พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ" ซึ่งได้แก้หัวหน้าหน่วยงาน เช่น ระดับสถานีตำรวจ คือ ผู้กำกับการหัวสถานีตำรวจ ถ้าระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือ ผบ.ตร ให้เปลี่ยนอำนาจสั่งคดีเป็นในรูป "คณะพนักงานสอบสวนเสียงข้างมาก" แทน
แต่ละสำนวนควรมีพนักงานสอบสวนจำนวน 3 คนหรือ 5 คน เหมือนองค์คณะตุลาการในศาลปกครอง หรือองค์คณะพิจารณาคดีในศาลยุติธรรม และมีหลักเกณฑ์วิธีการในการตรวจสอบ ถ่วงดุลโดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือผู้เป็นหัวหน้า ให้เกิดความเชื่อมั่นในความยุติธรรม เช่นเดียวกับการพิจารณาคดีของศาล
นอกจากนั้นยังควรแก้ไข ป.วิ.อาญา มาตรา 145 เรื่องการแย้งหรือไม่แย้งคำสั่งคดีของพนักงานอัยการ ไม่ให้เป็นอำนาจเฉพาะตัวของ ผบ.ตร. หรือ รอง ผบ.ตร. หรือ ผู้ช่วย ผบ.ตร. หรืออธิบดีดีเอสไอ ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ให้การแย้งหรือไม่แย้งเป็นอำนาจของเสียงข้างมากที่องค์คณะแต่งตั้งขึ้นแทน โดยส่งกลับไปที่คณะพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีมีความเห็นก่อน และให้มีกระบวนการที่เพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้เกิดความยุติธรรม

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ข้อเสนอในการสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลและอำนวยความยุติธรรม เห็นควรศึกษาเพื่อปฏิรูปกฎหมาย คือ
1. กรณีพนักงานสอบสวนสั่งฟ้อง และอัยการสั่งไม่ฟ้อง ถ้าผู้เสียหายเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ประสงค์จะฟ้องคดีเอง ให้พนักงานสอบสวนสนับสนุนข้อมูลและหลักฐานในสำนวนการสอบสวนกับผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายฟ้องต่อศาลได้เอง
2. ความผิดต่อรัฐ เช่น คดีภาษีอากร ป่าไม้ที่ดิน ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง หน่วยงานที่ได้รับความเสียหายและไม่เห็นด้วยกับอัยการ สามารถฟ้องคดีต่อศาลได้เอง ถ้าหน่วยงานไม่ฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนสนับสนุนข้อมูลและหลักฐานให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคหรือภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบจนเกิดความเสียหาย สามารถฟ้องคดีเองได้
3. กรณีที่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยในกระบวนการยุติธรรมและผู้เสียหายไม่ฟ้องเอง กรณีนี้ควรให้ "องค์กรอิสระ" สักหน่วยงานหนึ่งเข้ามาทำการตรวจสอบและมีอำนาจฟ้องต่อศาลเพื่อรักษาความยุติธรรมของประเทศ
พ.ต.อ.ทวี สรุปทิ้งท้ายว่า จากกรณีที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาในคดีนายบอส จนเป็นเหตุให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ระบบการควบคุมถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุด และ ผบ.ตร.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน น่าจะยังมีความไม่เหมาะสมอยู่ ไม่สามารถควบคุมการใช้ดุลพินิจที่อาจไม่ชอบหรือตามอำเภอใจได้ จึงเป็นการสมควรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง รวมทั้งมีการศึกษาทบทวนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบการควบคุมถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

logoline