svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รายการชั่วโมงสืบสวน | ผ่ามุม"คดีข่มขืน" นักวิชาการชี้ทางออกต้องเด็ดขาด | 31 พ.ค. 63

02 มิถุนายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปฎิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีคดีข่มขืนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่น่าสะเทือนใจคือผู้ที่ก่อเหตุกลับเป็นคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัว ที่ทำกับบุตรหลานของตัวเอง


หากย้อนไปดูข่าวที่เกิดขึ้นข่าวแรก เมื่อ 5 ครูและ 2 ลูกศิษย์ ข่มขืนอนาจารนักเรียนที่ตัวเองสอนสั่งอยู่ในจังหวัดมุกดาหารมานานนับปี หลายคนเมื่อทราบเหตุการณ์ต่างรุมประณามการกระทำอันเลวร้ายนี้ถัดมาไม่นาน เกิดเหตุสะเทือนขวัญขึ้นกับ "น้องชมพู่" เด็กหญิง วัย 3 ขวบ หลังจากหายตัวออกจากบ้านนานถึง 4 วัน ก่อนพบเป็นศพ พ่อแม่ของน้อง เชื่อว่า น้องถูกลักพาตัวไปและกระทำการข่มขืนจากคนในหมู่บ้านเดียวกัน แม้ว่าผลชันสูตรจะยังไม่ชี้ชัดถึงการที่ถูกทำให้เสียชีวิตก็ตาม   คดีเก่ายังสะสางไม่เสร็จสิ้น คดีใหม่เกิดขึ้นมาอีก เมื่ออาจารย์สถาบันการศึกษาชื่อดังแห่งหนึ่ง เข้าร้องเรียนกับผู้สื่อข่าว หลังลูกสาวอายุ 9 ขวบ และลูกชายอายุ 7 ขวบ ถูกพ่อแท้ๆ ซึ่งเป็นอาจารย์เช่นกัน ข่มขืนทำอนาจารมานานนับปี ก่อนเข้าแจ้งความที่ สภ.นครราชสีมา  หลายคดีที่เกิดขึ้นสะท้อนอะไรต่อสังคม 

รายการชั่วโมงสืบสวน | ผ่ามุม"คดีข่มขืน"  นักวิชาการชี้ทางออกต้องเด็ดขาด | 31 พ.ค. 63


คดีข่มขืนที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทยเท่านั้น ทว่าหลายประเทศก็เกิดขึ้นไม่ต่างกัน และแต่ละประเทศมีความพยายามในการแก้ปัญหา ทั้งการเพิ่มโทษประหาร / การเสนอฉีดไข่ให้ฝ่อ / การชดเชยเงินให้ผู้เสียหายจนกว่าจะพอใจ นั่นจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงหรือไม่ กฎหมายแต่ละประเทศครอบคลุมและเป็นที่ยอมรับในสากลหรือไม่ 


หากดูข้อมูลเชิงสถิติที่ผ่านมาของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้สำรวจกลุ่มเป้าหมายที่เข้าสู่กระบวนการของบ้านพักเด็กและครอบครัวทั้ง 77 จังหวัด เจาะลึกเฉพาะในเรื่องของการถูกทารุณกรรมทางเพศ (ข่มขืน)  พบว่า
ปี 2561 มีจำนวน 1,296 ราย ปี 2562 มีจำนวน 502 ราย และปี 2563 (วันที่ 1 ต.ค. 2562 1 พ.ค. 2563) มีจำนวน 343 ราย  

รายการชั่วโมงสืบสวน | ผ่ามุม"คดีข่มขืน"  นักวิชาการชี้ทางออกต้องเด็ดขาด | 31 พ.ค. 63



รายการชั่วโมงสืบสวน | ผ่ามุม"คดีข่มขืน"  นักวิชาการชี้ทางออกต้องเด็ดขาด | 31 พ.ค. 63


โดยที่ผ่านมาพบเสมอ ว่าเมื่อมีการก่อเหตุข่มขืนขึ้น ผู้ถูกกระทำมักจะถูกข่มขู่ ถูกทำให้รู้สึกกลัวและอับอาย หลายครั้งที่ถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และจากข้อมูลเชิงลึกของผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีเพียงเปอร์เซ็นต์น้อยนิดเท่านั้นที่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า คดีข่มขืนที่เกิดขึ้นยังคงมีอยู่ในสังคมไทย ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็น เพียงแต่ว่าในช่วงก่อนหน้านี้ที่คดีข่มขืนดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทย เป็นเพราะว่าการรับรู้ข่าวสารที่รวดเร็ว การเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายดายทางโซเชียลมีเดีย จึงทำให้ดูเหมือนว่าเกิดมากขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่แท้ที่จริงแล้วตัวเลขไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลที่พบผู้ก่อเหตุมักจะก่อเหตุกับคนใกล้ตัวมากกว่าก่อเหตุคนทั่วไปในลักษณะซึ่งหน้า 

อาจารย์จอมเดช ยังให้ข้อมูลงานวิจัยในต่างประเทศของประเทศสหรัฐอเมริกาว่า มีบางรัฐที่ใช้วิธีการโดยให้ผู้ที่พ้นโทษตามกฎหมายในคดีข่มขืน เมื่อเจ้าตัวกลับบ้านเกิดเมืองนอนจะต้องไปแจ้งกับผู้นำชุมชนของตนเองว่าตนเอง เพิ่งพ้นโทษในคดีข่มขืน เพราะจากการสำรวจพบว่า ผู้ที่ก่อเหตุแล้วมีโอกาสก่อเหตุซ้ำอีก จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการวิธีนี้ เพื่อให้คนในชุมชนระวังตัวกับคน ๆ นี้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งบางรัฐจะใช้วิธีการโดยให้เจ้าตัวเดินไปเคาะประตูบ้านทุกหลังในชุมชนของตัวเอง เพื่อแจ้งในลักษณะเดียวกัน ซึ่งถือว่าวิธีการเหล่านี้ดูค่อนข้างรุนแรง แต่สามารถลดจำนวนตัวเองในคดีข่มขืนได้อย่างประสบความสำเร็จโดยส่วนตัวเชื่อว่า ถ้าเมืองไทยนำวิธีการนี้มาใช้ก็อาจช่วยให้คดีข่มขืนลดลง

รายการชั่วโมงสืบสวน | ผ่ามุม"คดีข่มขืน"  นักวิชาการชี้ทางออกต้องเด็ดขาด | 31 พ.ค. 63


นอกจากนี้ในฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรจะเพิ่มการเก็บตัวเลขในคดีกระทำอนาจาร หรือคดีลวนลามด้วย ไม่ใช่แค่คดีข่มขืนเท่านั้น เพราะคดีเล็กๆ เหล่านี้ จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่จะช่วยวิเคราะห์พื้นที่การเกิดเหตุได้ และคดีเล็กๆ เหล่านี้จะก่อตัวเป็นคดีข่มขืนได้ในที่สุด

รายการชั่วโมงสืบสวน | ผ่ามุม"คดีข่มขืน"  นักวิชาการชี้ทางออกต้องเด็ดขาด | 31 พ.ค. 63


ข้อเสนอแนะเหล่านี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนในกระบวนการยุติธรรมไทย ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในเมื่อกฎหมายคดีข่มขืน โทษสูงสุดคือการประหารชีวิตอยู่แล้ว แต่การลงโทษสูงสุดก็ไม่ได้ช่วยทำให้ผู้ก่อเหตุคิดไตร่ตรองถึงโทษที่ตัวเองจะได้รับ ทางออกของปัญหานี้อาจต้องให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองกลับมาทบทวนหรือสังคายนากันใหม่

logoline