svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รายการชั่วโมงสืบสวน ตอน "นักรบเสื้อกาวน์" หัวหมู่สู้โควิด

27 เมษายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มื่อการแพร่ระบาดของ "ไวรัสโควิด-19" ได้เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นสมรภูมิรบ ที่มีขุนศึกคือ "บุคลากรทางการแพทย์" และในภาวะการณ์เช่นนี้ "บุคลากรทางการแพทย์" ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ต้องกลายเป็นนักรบที่คอยรับมือกับข้าศึกที่ชื่อ "ไวรัสโควิด-19" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"บุคลากรทางการแพทย์" ถือเป็นด่านสำคัญของการต่อสู้กับ "ไวรัสโควิด-19" แต่วันนี้เรากลับต้องสูญเสียกำลังพลในส่วนนี้จากการที่ "บุคลากรทางการแพทย์" ติดเชื้อซะเอง ซึ่งตัวเลขของ "บุคลากรทางการแพทย์" ที่ติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. -16 เม.ย. 63 มี "บุคลากรทางการแพทย์" ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว 99 คน และหากอยากทราบว่าค่าเฉลี่ยของคนที่ต้องถูกกักตัว ก็ให้เอาจำนวนผู้ติดเชื้อคูณด้วย 20 ก็เท่ากับว่าตอนนี้มี "บุคลากรทางการแพทย์" ที่ต้องถูกกักตัวแล้วเกือบสองพันคน นี่จึงเป็นปัญหาสำคัญที่เราทุกคนต้องตระหนักว่า "หากสมรภูมิรบไร้ซึ่งขุนศึก เราก็มิอาจมีชัยในสมรภูมิได้"
ระยะเวลาเพียง 3 เดือน มี "บุคลากรทางการแพทย์" ติดเชื้อแล้ว 99 คน โดยแบ่งเป็นหญิง 71 คน และชาย 28 คน ซึ่งส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยแยกรายละเอียดได้ ดังนี้
1.ดูแลรักษาผู้ป่วยโดยตรง 28 คน 2.สัมผัสผู้ร่วมงานที่ติดเชื้อในโรงพยาบาล 6 คน 3.ติดเชื้อจากการซักประวัติผู้ป่วย 1 คน 4.ไม่สามารถระบุได้ 3 คน
นอกจากนี้ยังลามไปถึง "บุคลากรทางการแพทย์" ใกล้ชิดที่ต้องโดนกักตัวไปด้วยกว่า 2,000 คน นี่จึงถือเป็นข่าวเศร้าที่ไม่มีใครอยากได้ยิน คือการที่ "บุคลากรทางการแพทย์" ติดเชื้อจากการปฏิบัติงาน เพื่อต่อสู้กับ "ไวรัสโควิด-19"
"โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ" เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยโควิด-19 ไว้ในการดูแลถึง 35 คน แม้ตอนนี้จะเหลือผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวเพียง 3 คน แต่ที่นี่เคยผ่านประสบการณ์เลวร้าย เพราะมี "บุคลากรทางการแพทย์" แผนก ICU ติดเชื้อมากถึง 8 คน ส่งผลให้ต้องปิดยกแผนก และกักตัวเจ้าหน้าที่ร่วม 160 คนในโรงพยาบาล"เราสามารถช่วย "บุคลากรทางการแพทย์" ไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ โดยเพียงแค่ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงไม่ปกปิดข้อมูล" นี่คือเสียงสะท้อนจากเหล่า"นักรบเสื้อกาวน์" ผู้ซึ่งอยู่แนวหน้าในการต่อต้านข้าศึกภารกิจการสู้ภัย "ไวรัสโควิด-19" ในครั้งนี้ มีบุคลากรทางการแพทย์ กว่า 45,000 คนที่เข้าร่วม จากจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ 160,000 คน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของบุคลการทางการแพทย์ทั่วประเทศ พวกเขาเหล่านี้คือ "นักรบเสื้อกาวน์" ที่ควรได้รับการยกย่อง

"โคโรนาไวรัส" หรือ "โควิด-19" ได้ทำให้วิถีชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์เปลี่ยนไปมาก จากที่เคยได้กลับบ้านทุกวัน อาจจะได้กลับเดือนละครั้ง หรือไม่ได้กลับเลย นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือการอยู่ร่วมกับคนในสังคม เมื่อ "นักรบเสื้อกาวน์" ถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้


"อรสา รอจั่น" หัวหน้าแผนกหอผู้ป่วยโควิด โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ บอกกับทีมข่าวเนชั่นออนไลน์ว่า ตัวเธอเองไม่ได้กลับบ้านมาเป็นเวลานานร่วม 3 เดือนแล้ว นับตั้งแต่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะรับผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกเข้ามารักษา และยังยืนยันด้วยว่า "ยังไม่กลับบ้านจนกว่าจะจบภารกิจนี้"

"คิดถึงคนที่บ้านแล้วน้ำตาจะไหล คือพี่อยู่กับแม่สองคนและแม่ก็อายุเยอะแล้ว คุณแม่ก็จะเอาอาหารมาส่งให้ที่คอนโดแต่เราบอกแม่ว่า เพราะความปลอดภัยของแม่ หนูก็จะไม่กลับบ้าน"
แม้ในภาพรวมแล้ว "ไวรัสโควิด-19" จะทำให้วิถีชีวิตของทุกคนเปลี่ยนไป แต่คงไม่เท่ากับบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาล เพราะต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้ง คือการดูแลชีวิตผู้ป่วยจนไม่อาจกลับไปดูแลชีวิตคนในครอบครัวได้ อย่างเช่นหัวหน้าพนักงานทำความสะอาด โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ซึ่งเธอไม่ขอเปิดเผยชื่อ บอกกับทีมข่าวเนชั่นออนไลน์ ว่าเรื่องเศร้ากว่าการไม่ได้กลับบ้านไปเจอหน้าลูกสาวซึ่งเป็นพยาบาล คือการทราบข่าวว่าลูกสาวของตัวเองติดเชื้อโควิด-19
"ตอนนั้นช็อก !! งง..ทำอะไรไม่ถูกพี่ช็อก !! ทำอะไรไม่ถูกเลย"
ความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ที่เฝ้าดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จนพวกเขาต้องกลายเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยง ซ้ำร้ายกว่านั้นคือการใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บางคนต้องใช้ชีวิตอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่ให้ใครรู้ว่าทำงานในโรงพยาบาล

100 วันแห่งการทุ่มเทของเหล่า "ขุนศึกเสื้อกาวน์" ที่ต้องเผชิญกับเชื้อโรคที่ไม่เคยมีใครได้รู้จักกับมันมาก่อน พวกเขาต้องเสียสละเป็นอย่างมากมาย การตอบแทนความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ที่รัฐบาลได้ดำเนินการให้ คือ การบรรจุข้าราชการเพิ่มเติม จำนวนกว่า 45,000 คน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์
แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่ผู้คนในสังคมจะมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ได้ ก็คือกำลังใจและความเข้าใจที่มีต่อ "นักรบเสื้อกาวน์" เหล่านี้ และที่สำคัญ เราสามารถที่จะแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ได้ ด้วยการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เพื่อบุคลากรทางการแพทย์
อ่านข่าวเพิ่มเติม : เปิดคลิป !! "นักรบเสื้อกาวน์" ใส่ชุด PPE

logoline