svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชั่วโมงสืบสวน | 19 ม.ค. 63"แบนถุงพลาสติก"

22 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

1 มกราคมที่ผ่านมา คือวันดีเดย์ที่ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อต่างพร้อมใจกันงดแจกถุงพลาสติก หลังจากนั้นก็เกิดปรากฎการณ์ในโลกโซเชียล มีการนำอุปกรณ์ต่างๆ มาใส่ของแทนถุงพลาสติก ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า สังคมไทยมีความพร้อมแค่ไหนกับนโยบาย "ลด ละ เลิก ถุงพลาสติก" ของรัฐบาล ไปติดตามกับทีมข่าวชั่วโมงสืบสวนครับ

ภาพการใช้รถเข็นก่อสร้าง กระสอบปุ๋ย สวิงหาปลา แม้กระทั่งกล่องไม้ลายโลงศพ มาใส่ของภายในร้านสะดวกซื้อแทนการใช้ถุงพลาสติก เป็นภาพที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในสังคมไทย จนกลายเป็นกระแสฮือฮาในโลกโซเชียล

ชั่วโมงสืบสวน | 19 ม.ค. 63"แบนถุงพลาสติก"


ปัญหาขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง โดยเฉพาะถุงพลาสติกเป็นสิ่งที่ทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญมานานนับ 10 ปี เพราะทุกๆ 1 วินาที จะมีถุงพลาสติกมากกว่า 160,000 ใบถูกทิ้งผลกระทบที่ตามมาคือทำลายสิ่งแวดล้อม ท้องทะเล และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
จากการสำรวจพบว่าทั่วโลกมีการประกาศแบนถุงพลาสติกอย่างจริงจังแล้วกว่า 32 ประเทศ ทั้งฝรั่งเศส จีน อินเดีย เนปาล แอฟริกาใต้ นิวซีแลนด์ และอีกหลายต่อหลายประเทศ 
แม้กระทั่งนิตยสารไทม์ ยังนำภาพของ "เกรียตา ทุนแบร์ก" สาวน้อยวัย 16 ปี ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม จนได้รับการคัดเลือกจากนิตยสารไทม์ ให้เป็นบุคคลแห่งปี 2019ขึ้นเป็นรูปภาพหน้าปก 
สำหรับนโยบายแบนถุงพลาสติกในไทย เป็นที่ถกเถียงกันมาหลายยุคหลายสมัย และพยายามเลิกใช้กันมานานแล้วเพียงแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรกระทั่งเดือนสิงหาคม 2558กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มผลักดันโครงการรวมพลังสร้างวินัย ลดใช้ถุงพลาสติก โดยขอความร่วมมือไปยังห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ให้งดแจกถุงพลาสติกทุกวันที่ 15 ของเดือน จากนั้นขยับมาเป็นทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน กระทั่งเดือนละ 4 วัน ในทุกวันพุธ แต่ทว่าโครงการนี้กลับยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะบรรดาห้างร้านยังกลับมาแจกถุงตามเดิม เพราะกังวลว่าจะกระทบกับยอดขาย 

กระทั่งพะยูนน้อยมาเรียมขวัญใจคนไทย และสัตว์ทะเลหายากชนิดอื่นๆ ต้องมาสังเวยชีวิตให้กับถุงพลาสติก / ผลการผ่าชันสูตรพบว่า มีเศษพลาสติกอยู่ในท้อง นับเป็นตัวจุดประเด็นให้สังคมไทยตื่นตัวกับขยะพลาสติกอีกครั้ง 

ชั่วโมงสืบสวน | 19 ม.ค. 63"แบนถุงพลาสติก"


กระทรวงทรัพฯ จึงใช้โอกาสนี้ ตัดสินใจประกาศนโยบายยกเลิกถุงพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563จากที่เคยวางโรดแมปไว้ในปี 2565 
สำหรับโรดแมปจัดการขยะพลาสติกปี 2561 ถึงปี 2573ที่ครม.เห็นชอบไปเมื่อ 17 เม.ย. 2562 ไม่ได้รณรงค์เฉพาะถุงพลาสติกเท่านั้น แต่นโยบายนี้ยังรวมถึงพลาสติก 4 ชนิดคือ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก ซึ่งทั้งหมดจะค่อยๆ ถูกยกเลิกภายในปี 2565 
จากการสำรวจขององค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือน มิ.ย. 2562 พบว่า ในบรรดา 192 ประเทศทั่วโลก มีประเทศที่มีกฎหมายจัดการกับขยะใช้แล้วทิ้ง 127 ประเทศ แต่ในจำนวนนั้นไม่มีประเทศไทย นำมาสู่การร่างกฎหมาย พ.ร.บ.จัดการปัญหาขยะพลาสติก คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้
ในห้วงเวลาที่ภาคเอกชนและประชาชนต่างตื่นตัวกับปรากฎการณ์ "เลิกใช้ถุงพลาสติก"ของภาครัฐ ขานรับนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อม กอบกู้โลกที่กำลังวิกฤตด้วยการงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว หรือที่หลายคนเรียกว่าถุงก๊อบแก๊บ 
แต่ในแง่อีกมุมยังมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐเยียวยา เพราะได้รับผลกระทบจากการรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก นั่นคือสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทยที่มีเครือข่ายโรงงานผลิตถุงพลาสติกอยู่ทั่วประเทศ 

ข้อเรียกร้องจากสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ที่ส่งถึงภาครัฐคือ ขอให้รับซื้อเครื่องจักรผลิตถุงพลาสติกในราคาที่เหมาะสม และดูแลแรงงานกว่า 6,000 คน ที่จะอาจจะต้องตกงาน รวมถึงเปิดเสรีการใช้ถุงพลาสติกตามความสมัครใจของผู้บริโภค หากใครต้องการใช้ถุงพลาสติกจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม ไม่ใช่ยกเลิกการใช้ เพราะเชื่อว่าพลาสติกไม่ใช่สาเหตุทำลายธรรมชาติ แต่เป็นคนใช้ที่ขาดจิตสำนึก
กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เก็บข้อมูลการใช้ถุงพลาสติกของคนไทย พบว่าสูงถึง 45,000ล้านใบต่อปี 

ชั่วโมงสืบสวน | 19 ม.ค. 63"แบนถุงพลาสติก"


ที่มาของถุงพลาสติกเหล่านี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ จากห้างสรรพสินค้า 30% /ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าทั่วไป 30% / ส่วนกลุ่มที่ใช้ถุงพลาสติกมากที่สุดคือตลาดสด และแผงลอย 40%
นั่นหมายความว่า นโยบายรณรงค์งดแจกถุงพลาสติก ที่เริ่มนำร่องจากกลุ่มห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ทำให้ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึง 60%หรือเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนการผลิต นี่จึงเป็นสาเหตุให้โรงงานอุตสาหกรรมถุงพลาสติก ต้องไปยื่นหนังสือถึง รมว.กระทรวงทรัพย์ 
เหนืออื่นใด สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้พรมนโยบาย"เลิกใช้ถุงพลาสติก" ที่ประชาชนยังไม่เข้าใจกระจ่างชัดคือ ตามโรดแมปกำหนดให้เลิกใช้ถุงพลาสติกที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน อย่างถุงหูหิ้วตามร้านสะดวกซื้อ ส่วนใหญ่หนาเพียง 10-15 ไมครอนเท่านั้น ถุงประเภทนี้มีเนื้อสัมผัสบางเบา แตกตัวเป็นไมโครพลาสติกได้ง่าย ที่สำคัญคือเป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งนำกลับมารีไซเคิลแทบไม่ได้
ส่วนถุงพลาสติกที่มีความหนา 36 ไมครอนขึ้นไป ยังอนุญาตให้ใช้ เพราะสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 

logoline