svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชั่วโมงสืบสวน เบรค2(25ส.ค.62)ขยะพลาสติก มัจจุราชใต้ท้องทะเล

26 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปี 2562 มีสัตว์ทะเลเกยตื้นรวมแล้ว 738 ตัว ในจำนวนนี้เป็นพะยูน 16 ตัว นี่จึงทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก เพื่อผลักดัน "แผนพะยูนแห่งชาติ" โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนประชากรพะยูน 50 เปอร์เซ็น ในระยะเวลา 10 ปี รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ติดตามกับรายงานทีมข่าวชั่วโมงสืบสวนครับ

"พะยูน" เป็นหนึ่งในสัตว์สงวน ตาม พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
และจากข้อมูลสถานการณ์พะยูนโดยภาพรวมของประเทศไทย ล่าสุด คาดว่ามีจำนวนทั้งหมดประมาณ 250 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเลฝั่งอันดามันประมาณ 200 ตัว โดยพบมากสุดที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ส่วนที่เหลืออีก 50 ตัว กระจายอยู่ในทะเลฝั่งอ่าวไทย
แต่ปี 2562 เป็นต้นมา มีรายการพะยูนเกยตื้นแล้ว 16 ตัว ไม่มีตัวใดที่รอด เฉลี่ยแล้วพะยูนเกยตื้นเดือนละ 2 ตัว และนี่ยังไม่ได้นับรวมสัตว์ทะเลหายาก อย่าง วาฬ โลมา หรือแม้กระทั่งเต่าทะเลที่เกยตื้น ตัวเลขการตายของพะยูนบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ทะเลไทยมากกว่าคำว่า "วิกฤติ"

ความสุขเล็ก ๆ ที่มาเรียมมอบให้กับคนไทยในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่มาเรียมจะตาย ก่อให้เกิดปรากฎการณ์ ที่สร้างกระแสตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาขยะทะเลมากขึ้น
ล่าสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนพะยูนแห่งชาติ หรือ "มาเรียมโปรเจ็ค" โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนประชากรพะยูนให้ได้อีก 50 เปอร์เซ็น ภายในระยะเวลา 10 ปี นอกจากนี้ ในแผนพะยูนแห่งชาติ ยังผลักดันให้เกิด "ลิบงโมเดล" เพื่อนำไปใช้ในพื้้นที่ 12 แห่งที่มีรายงานว่าพบพะยูนหรือพะยูนเคยอาศัยอยู่ และการเลิกเครื่องมือประมงบางชนิดที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากเสี่ยงตายอีกด้วย

แผนพะยูนแห่งชาติ คือมรดกที่มาเรียมทิ้งไว้ให้ แต่ไม่ได้หมายความว่าแผนพะยูนแห่งชาตินี้จะดูแลแค่พะยูนอย่างเดียว
มาเรียมโปรเจ็ค ยังได้ยกระดับในการดูแลทรัพยากรในท้องทะเลอย่างเป็นรูปแบบ มีทั้งการสร้างโรงพยาบาลสัตว์ทะเล / ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเล / สถานีพักพิงสัตว์พิการ / และที่สำคัญ การแก้ปัญหาขยะพลาสติก ก็จะอยู่ในแผนนี้ด้วย
ท้องทะเล คือต้นทุนสำคัญที่ทำให้เราได้ใช้สอยทรัพยากร แต่ต้องยอมรับว่าวันนี้เราได้ทำลายต้นทุนเหล่านี้ โดยที่เราไม่รู้ตัว แผนพะยูนแห่งชาติ เป็นอีกหนึ่งความหวังที่เราทุกคนจะได้แก้ตัว หันกลับมามองปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจัง

logoline