svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เจาะนิยาม "จนท.อื่นของรัฐ" ชี้ขาดคุณสมบัติ "ลุงตู่"

10 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ล่าความจริง" ยังคงเกาะติดประเด็นการตรวจสอบ "คนการเมือง" ที่คึกคักเป็นพิเศษในยุครัฐธรรมนูญ "ปราบโกง" วันนี้เราจะมาเจาะลึกกันเฉพาะข้อกลาวหาที่มีต่อ "นายกฯลุงตู่" ของเรา เพราะปี่กลองกำลังเชิด ใกล้ตั้งรัฐบาลสำเร็จเต็มที เรียกว่าโดนรับน้องจาก "สภาเลือกตั้ง" ก็คงไม่ผิด

ประเด็นตรวจสอบ "นายกฯลุงตู่" ในเรื่องนี้ก็คือ มีสถานะเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" หรือไม่ เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา "ลุงตู่" สวมหมวก 2 ใบ ใบแรกเป็นนายกฯ อีกใบเป็น หัวหน้า คสช.

ต้นสายปลายเหตุมาจากการที่พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ "ลุงตู่" เป็น "แคนดิเดตนายกฯ ซึ่งคนที่จะมีสิทธิ์เป็นแคนดิเดตได้ ต้องมีคุณสมบัติเป็นนายกฯได้ด้วย ก็คือรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ซึ่งมี 8 ข้อ ใน 8 ข้อนี้ มีอยู่ 1 ข้อที่อ้างถึง "ลักษณะต้องห้ามการลงสมัคร ส.ส." ตามมาตรา 98 คือจะเป็นแคนดิเดตได้ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามการลงสมัคร ส.ส.

เจาะนิยาม "จนท.อื่นของรัฐ" ชี้ขาดคุณสมบัติ "ลุงตู่"


ลักษณะต้องห้ามมี 18 ข้อ ข้อ 12 ห้ามเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งและเงินเดือนประจำ ยกเว้น "ข้าราชการการเมือง" (แปลว่าเป็นข้าราชการไม่ได้ แต่เป็นข้าราชการการเมืองได้)

ข้อนี้ทำให้ "หมวกนายกฯ" ที่ "ลุงตู่" สวมอยู่ไม่มีปัญหา เพราะนายกฯ เป็น "ข้าราชการการเมือง" ทำให้สามารถเป็นแคนดิเดตนายกฯได้

ปัญหาจึงอยู่ที่หมวก "หัวหน้า คสช." เพราะมีลักษณะต้องห้ามข้อ 15 เขียนว่า "ห้ามเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ข้อนี้แหละที่ฝ่ายค้านและฝ่ายแค้นเขาคาใจว่า ตำแหน่งหัวหน้าคสช. นาจะเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ซึ่งถ้าเป็น ก็จะเป็นแคนดิเดตนายกฯไม่ได้ ก็จะไม่มี "บิ๊กตู่ นายกฯสมัย 2" ที่กำลังเป็นอยู่ตอนนี้

เจาะนิยาม "จนท.อื่นของรัฐ" ชี้ขาดคุณสมบัติ "ลุงตู่"


จริงๆ เรื่องนี้มีความเคลื่อนไหวให้ตรวจสอบมาแล้วหลายครั้ง

เริ่มจาก วันที่ 11 กุมภาพันธ์ คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบ

15 กุุมภาพันธ์ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยก็ไปยื่นซ้ำที่ กกต.อีกรอบ

6 มีนาคม คนนี้พลาดไม่ได้ คุณศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไปยื่นเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ทั้ง 3 คนยื่นประเด็นเดียวกัน คือ "นายกฯลุงตู่" เป็นหัวหน้า คสช. เข้าข่ายเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" เพราะรับเงินเดือนทุกเดือน เป็นเงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาท และเงินเพิ่ม 50,000 บาท รวมแล้วเดือนละ 125,590 บาท จึงน่าจะไม่มีคุณสมบัติเป็น "แคนดิเดตนายกฯ"

ต่อมา 14 มีนาคม ผู้ตรวจการแผ่นดินยุติการตรวจสอบเรื่องนี้ โดยชี้ว่าตำแหน่ง "หัวหน้า คสช." ไม่ขัดคุณสมบัติและไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามการเป็น "แคดิเดตนายกฯ"

ตามด้วย 20 มีนาคม ก่อนเลือกตั้งเพียง 4 วัน กกต.ก็ลงมติเป็นเอกฉันท์ในประเด็นนี้ เช่นเดียวกับผู้ตวรจการแผ่นดิน

เจาะนิยาม "จนท.อื่นของรัฐ" ชี้ขาดคุณสมบัติ "ลุงตู่"


เหตุผลที่องค์กรตรวจสอบนำมาอ้างอิง ก็คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 43 ที่เคยตีกรอบและกำหนดนิยามของ คำว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ไว้แล้ว ว่าจะต้องเข้าองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ

1. ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย

2. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการ หรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติงานประจำ (เน้นตรงปฏิบัติงานประจำ)

3. อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐ

และ 4. มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย


ผู้ตรวจการแผ่นดิน บอกว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐเพียง 2 ข้อ คือ ข้อ 2 กับ ข้อ 4 แต่ไม่เข้าข่าย 2 ข้อ คือ ข้อ 1 กับ ข้อ 3

ข้อ 1 เพราะไม่ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย แต่มาได้เพราะเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง

ข้อ 3 ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ เพราะเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" คือ ผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง จึงไม่เข้าข่ายเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"

ส่วนมือกฎหมายรัฐบาลอย่าง อาจารย์วิษณุ เครืองาม ให้เหตุผลอีกแบบหนึ่งว่า หัวหน้า คสช.ไม่ใช่ "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" เพราะไม่ได้ปฏิบัติงานประจำ แต่เป็น "องค์กรชั่วคราว"

เจาะนิยาม "จนท.อื่นของรัฐ" ชี้ขาดคุณสมบัติ "ลุงตู่"


ขอแทรกตรงนี้นิดหนึ่งว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" เป็นคนละอย่างกับ "เจ้าหน้าที่รัฐ" เพราะ "เจ้าหน้าที่รัฐ" มีนิยามชัดเจนในกฎหมาย ป.ป.ช. ว่าหมายถึง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และคณะบุคคลที่กฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจทางปกครอง อ่านดูก็ชัดเจนว่า หัวหน้า คสช.ไม่เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วน "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ไม่เคยมีนิยามในกฎหมาย จึงต้องมีการตีความกันตามที่เล่าให้ฟัง

และแม้องค์กรที่เกี่ยวข้องจะวินิจฉัยเรื่องนี้มาบ้างแล้ว แต่คนชี้ขาดยังไม่ใช่ศาล และฝ่ายค้านก็ยังคาใจ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่อง "เจ้าหน้าอื่นของรัฐ" 4 ข้อเมื่อปี 43 ฝ่ายค้านมองต่างมุมว่า "หัวหน้า คสช." เข้าข่ายทุกข้อ ล่าสุดจึงยื่นเรื่องผ่านประธานสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ประธานสภาก็ส่งต่อไปยังศาลเรียบร้อยแล้ว

ฝ่ายค้านบอกว่า หัวหน้าคสช.รับเงินเดือนทุกเดือน และออกประกาศ คำสั่งต่างๆ มากมายหลายร้อยฉบับ ใช้อำนาจทั้งทางกฎหมายและทางปกครอง จะไม่เป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ได้อย่างไร

ก็ต้องรอดูว่าสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาทางไหน และ "หัวหน้า คสช." มีสถานะเป็นอะไรกันแน่

logoline