svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เพื่อไทยยุคไร้หัว เฟ้นหา "ผู้นำฝ่ายค้าน" ขัดตาทัพ

04 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โผ ครม.โผสุดท้ายออกมาแล้ว ข่าวว่าท่านนายกฯ นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว อีกไม่นานก็จะได้เห็นโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่กัน ไม่ใช่แค่รัฐบาล เพราะฝ่ายค้านก็กำลังจะมี "ผู้นำฝ่ายค้าน" คนใหม่ด้วย พร้อมๆ กับการเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่ คุณผู้ชมหลายคนอาจจะงงว่า ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ไปเกี่ยวอะไรกับการเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทย วันนี้ "ล่าความจริง" มีคำตอบมาฝาก

ตำแหน่ง "ผู้นำฝ่ายค้าน" ชื่อเต็มๆ คือ "ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร" ไม่ใช่ตำแหน่งที่จู่ๆ ใครก็เป็นได้ แต่เป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ และผู้ที่จะนั่งตำแหน่งนี้ต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่างตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 คือ


1. เป็น ส.ส. (หรือจะพูดว่าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้)


2.เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาล (คือไม่มีสมาชิกไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา)


และ 3. พรรคการเมืองนั้นมี ส.ส.มากที่สุดในฝ่ายเดียวกัน


จากคุณสมบัตินี้ โดยเฉพาะข้อ 2 กับข้อ 3 ทำให้ "ผู้นำฝ่ายค้าน" ต้องเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย" เท่านั้น (อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ไม่ได้ เพราะไม่ได้มี ส.ส.มากที่สุด) แต่ปัญหาคือหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนเดิม คือ พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ ท่านไม่ได้เป็น ส.ส. ทำให้ต้องมีการเฟ้นหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ พลตำรวจโทวิโรจน์ก็เลยยื่นใบลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่เป็น ส.ส. และเมื่อหัวหน้าพรรคลาออก กรรมการบริหารพรรคทั้งชุดก็พลอยสิ้นสภาพไปด้วย

เพื่อไทยยุคไร้หัว เฟ้นหา "ผู้นำฝ่ายค้าน" ขัดตาทัพ



การเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่ จะมีขึ้นในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ โดยเลือกจากที่ประชุมใหญ่ของพรรค องค์ประชุมประกอบด้วย


- รักษาการกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน คือชุดที่เพิ่งพ้นสภาพไป


- ผู้แทนภาค / ผู้แทนสาขา / ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด


- ส.ส.ของพรรค 136 คน


- อดีตรัฐมนตรี

ข้อบังคับกำหนดว่าองค์ประชุมต้องไม่ต่ำกว่า 250 คน กระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคก็จะเสนอชื่อกันวันนั้นเลย แล้วก็โหวตกัน ใครได้เสียงข้างมากก็เป็นหัวหน้าพรรคไป จากนั้นหัวหน้าคนใหม่ก็ไปเลือกตำแหน่งอื่นๆ ในกรรมการบริหารพรรค


รู้กระบวนการไปแล้ว ดูกันต่อว่า "แคนดิเดต" มีใครบ้าง ที่มีชื่อจนถึงขณะนี้มี 2 คน คือ


คนแรก คุณสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ นักการเมืองรุ่นใหญ่ลายคราม เคยสังกัดกลุ่มวังบัวบานของ "เจ๊แดง - เยาวภา วงศ์สวัสดิ์" น้องสาวคุณทักษิณ ผ่านการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง และได้รับความไว้วางใจจาก "คนแดนไกล" อย่างมาก การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาถูกวางตัวให้ไปเป็น "หัวหน้าพรรคเพื่อธรรม" ตามยุทธการ "แตกแบงก์พัน" แต่เกมโอเวอร์เสียก่อนจากคดีจำนำข้าวล็อต 2


คุณสมพงษ์ แม้จะอายุเหยียบ 80 แล้ว แต่ยังแข็งแรง เพราะเป็นคนอารมณ์ดี ชิลล์ๆ ไม่ทะเลาะเบาะแว้งหรือขัดแย้งกับใคร

เพื่อไทยยุคไร้หัว เฟ้นหา "ผู้นำฝ่ายค้าน" ขัดตาทัพ



คนที่สอง นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตนายทหารอากาศ เป็นนักบินขับไล่ และเป็ฯอดีตผู้บังคับฝูงบิน เอฟ 16 พิศมัยการเมือง จึงตัดสินใจเข้าร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย เคยเป็น ส.ส.กทม. เขตสายไหม 3 สมัย และเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที ในรัฐบาลอดีตนายกฯหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรด้วย


คุณอนุดิษฐ์ เป็นนักการเมืองสายตรง "คุณหญิงหน่อย" สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เชี่ยวชาญงานยุทธศาสตร์ และไอที ถือเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ อายุเพียง 54 ปี หลายคนอยากให้มาฟื้นพรรคเพื่อไทย แต่ก็เจอแรงต้าน จนคุณหญิงต้องบินไปเจรจากับคนแดนไกล และสุดท้ายก็เจอไฟแดง ทำให้ชื่อของคุณอนุดิษฐ์ตอนนี้ ขยับมาชิงเก้าอี้เลขาธิการพรรคเท่านั้น แต่ก็ยังไม่วายโดนแซะ มีข่าว ส.ส.อีสานฮือต้าน

เพื่อไทยยุคไร้หัว เฟ้นหา "ผู้นำฝ่ายค้าน" ขัดตาทัพ


การเปลี่ยนหัว หาผู้นำฝ่ายค้านหนนี้ สะท้อนปัญหาภายในพรรคเพื่อไทยได้หลายประการ


1. คือความไม่เป็นเอกภาพ ความขัดแย้งภายใน และไม่มีใครมีบารมีจริงๆ เนื่องจากเจ้าของพรรคตัวจริงอยู่เมืองนอก


2. ขาดขุนพลคนสำคัญในการกุมบังเหียนพรรค และทำงานในสภา เพราะแกนนำพรรคสอบตกหมด (คุณสุดารัตน์ คุณภูมิธรรม ขณะที่บางคนก็ฉีกไปอยู่พรรคอื่นแล้วพรรคถูกยุบ เช่น คุณจาตุรนต์)


สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยขณะนี้จึงอยู่ในสภาพ "พรรคไร้หัว" ส่งผลถึงการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาช่วงที่ผ่านมา ด้อยกว่าพรรคอนาคตใหม่ หรือแม้แต่พรรคประชาชาติเสียด้วยซ้ำ

เพื่อไทยยุคไร้หัว เฟ้นหา "ผู้นำฝ่ายค้าน" ขัดตาทัพ



ขณะที่ตำแหน่ง "ผู้นำฝ่ายค้าน" มีความสำคัญมากในเวทีการเมืองระบบรัฐสภา เพราะจะเป็น "หัวหอก" ในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร เป็นผู้นำในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านจะเป็นผู้อภิปรายสรุปญัตติเพื่อให้สมาชิกได้ตัดสินใจโหวต ซึ่งหลายๆ ครั้งก็ล้มรัฐบาลได้เหมือนกัน แม้จะไม่ได้แพ้คาสภา แต่ก็ต้องลาออก หรือยุบสภาหนี

เพื่อไทยยุคไร้หัว เฟ้นหา "ผู้นำฝ่ายค้าน" ขัดตาทัพ



เส้นทางประชาธิปไตยของบ้านเรา มีการบัญญัติตำแหน่ง "ผู้นำฝ่ายค้าน" ไว้ในรัฐธรรมนูญครั้งแรกในปี 2517 จนถึงปัจจุบันมีผู้นำฝ่ายค้านมาแล้ว 7 คน คือ


หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช , พลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสาร , พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ , คุณบรรหาร ศิลปอาชา , คุณชวน หลีกภัย , คุณบัญญัติ บรรทัดฐาน และคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


น่าสังเกตว่าในจำนวนผู้นำฝ่ายค้าน 7 คน มาจากพรรคประชาธิปัตย์ถึง 4 คน / และมีถึง 5 คนที่ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย


คุณสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จะสร้างประวัติศาสตร์นี้เป็นคนต่อไป หรือจะเป็นได้แค่ผู้นำฝ่ายค้านขัดตาทัพ เพื่อรอคนแดนไกลเคาะ "ผู้นำพรรคตัวจริง"

logoline