svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สามมิตร" กับ "ทางสามแพร่ง"

02 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลุ่มการเมืองที่ชื่อคุ้นหูคนไทยมากที่สุดในเวลานี้ คงหนีไม่พ้น "กลุ่มสามมิตร" จากปัญหาแก่งแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีภายในพรรคพลังประชารัฐ หลายคนมองว่า "สามมิตร" เป็นผู้ร้าย แต่แกนนำกลุ่มสามมิตรเองบอกว่าพวกเขาถูกกลั่นแกล้ง

ใครแกล้งใครยังไม่รู้ แต่ว่าศัตรูตัวฉกาจที่กลุ่มสามมิตรเปิดชื่อขึ้นมาเมื่อวาน จริงๆ แล้วก็มีกำเนิดจากสายธารเดียวกัน


ก่อนอื่นเรามารู้จักกลุ่มสามมิตรกันก่อน...


"กลุ่มสามมิตร" เกิดจากการรวมตัวกันของนักการเมืองรุ่นเก๋า 3 คนที่เป็นเพื่อนสนิทและเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ยุค คุณทักษิณ ชินวัตร ยังเรืองอำนาจ แถมทั้ง 3 คนยังมีชื่อขึ้นต้นด้วยตัว ส.เสือ เหมือนกันด้วย


หนึ่งคือ ส.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ของรัฐบาล คสช. แถมยังมีข่าวว่าจะสืบทอดตำแหน่งต่อไปในรัฐบาลประยุทธ์ 2 ด้วย โดยคุณสมคิดคืออดีตขุนพลเศรษฐกิจในช่วงต้นๆ ของรัฐบาลไทยรักไทยที่มีคุณทักษิณเป็นนายกฯ


สองคือ ส.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่าคุณสุริยะเคยเป็นเลขาธิการพรรคไทยรักไทย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และเก็บตัวเงียบอยู่เบื้องหลังมาตลอดจากปัญหาสุขภาพ ก่อนจะมาเปิดหน้าเปิดตัวกับกลุ่มสามมิตร


และสาม ส.สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มวังน้ำยมในพรรคไทยรักไทย มี ส.ส.ในมุ้งหลายสิบคน เขตอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและอีสานบางส่วน หลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบ ก็ตั้งกลุ่มมัชฌิมา ก่อนจะพัฒนาเป็นพรรคมัชฌิมาธิปไตย และถูกยุบอีกรอบ



ทั้งสามจับมือกันตั้ง "กลุ่มสามมิตร" ที่มีนัยยะหมายถึงเพื่อนสนิท 3 คนบนถนนการเมือง และคำว่า "สามมิตร" ยังมีความหมายพิเศษกับคุณสุริยะด้วย เพราะเป็นชื่อธุรกิจดั้งเดิมของตระกูล ก่อนจะสยายปีกเป็นกลุ่ม "ซัมมิท" และ "ไทยซัมมิท" จนถึงทุกวันนี้

"สามมิตร" กับ "ทางสามแพร่ง"



ทั้ง 3 ส.แบ่งงานกันทำ เริ่มจาก ส.สมคิด ซึ่งอยู่ในรัฐบาล คสช.อยู่แล้ว ก็ฟอร์มทีมตั้งพรรคพลังประชารัฐ หยิบยืมชื่อมาจากนโยบาย "ประชารัฐ" ซึ่งเป็นนโยบายที่เด่นที่สุดของรัฐบาล แล้วดึง 4 รัฐมนตรีที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นสายตรงของตนเอง เดินงานจัดตั้งพรรคการเมือง ประกอบด้วย คุณอุตตม สาวนายน , คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ , คุณสุวิทย์ เมษินทรีย์ และคุณกอบศักดิ์ ภูตระกูล ซึ่งภายหลังถูกขนานนามว่า "กลุ่ม 4 กุมาร"

"สามมิตร" กับ "ทางสามแพร่ง"



ส่วนอีก 2 ส. คือ ส.สุริยะ กับ ส.สมศักดิ์ เดินสายรวบรวมอดีต ส.ส.เพื่อไทยและไทยรักไทยเดิมในพื้นที่ต่างๆ เน้นภาคเหนือกับอีสาน มาเข้าพรรคพลังประชารัฐ (เรียกว่าตกปลาในบ่อเพื่อไทย) รู้จักกันดีในชื่อปฏิบัติการ "พลังดูด" จุดเริ่มต้นอยู่ที่บ้านของ คุณปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ที่จังหวัดเลย ปฏิบัติการ "พลังดูด" รวบรวมอดีต ส.ส.ได้ถึง 70 คนในวันเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ โดยมีกลุ่ม 4 กุมาร เป็นแกนนำสำคัญของพรรค และมี ส.สมคิด อยู่หลังฉาก


นี่คือเส้นทางของ "กลุ่มสามมิตร" ในฐานะมุ้งใหญ่ที่สุดของพรรคพลังประชารัฐ

"สามมิตร" กับ "ทางสามแพร่ง"


แต่อิทธิพลของ "กลุ่มสามมิตร" ก็ลดลงพอสมควร เพราะผลงานการพา ส.ส.เข้าสภา ปรากฏว่าได้ต่ำกว่าเป้าถึงครึ่งหนึ่ง หนำซ้ำยังถูกลูบคมว่า ส.ส.ส่วนหนึ่งที่เข้าสภามาได้ เป็นเพราะพลังของกลุ่มการเมืองอื่นช่วยชีวิตเอาไว้

ที่ผ่านมา ส.ส.ใน "มุ้งสามมิตร" ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่ามีเท่าไหร่แน่ เพราะถ้าถามแกนนำสามมิตรเองก็บอกว่า 30 กว่า แถมยังมีข่าวพิมพ์ชื่อไปให้นายกฯดู เพื่อขอโควต้ารัฐมนตรี "2 ว่าการ 2 ช่วย" เสียด้วย ขณะที่ข่าวจากกลุ่มการเมืองอื่นบอกว่า "สามมิตร" ใช้วิธี "ตกปลาจากบ่อเพื่อน" ทำให้ได้ชื่อ ส.ส.กว่า 30 คน ทั้งที่จริงๆ มีแค่สิบกว่าคน บางกระแสว่า "ต่ำสิบ" ด้วยซ้ำไป


แต่หากย้อนดูการรวมตัวแถลงข่าวไล่เลขาธิการพรรค คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เมื่อวาน เพราะไม่พอใจที่ถูกสลับเก้าอี้รัฐมนตรีพลังงานไปเป็นอุตสาหกรรม ก็จะเห็น ส.ส.สามมิตร เต็มห้องประชุมอยู่เหมือนกัน ยืนยันเพาเวอร์ในการต่อรอง เพื่อวัดใจนายกฯว่าจะเลือกใคร ระหว่าง "สามมิตร" กับ "สี่กุมาร" ทั้งๆ ที่ต้นธารของ 2 กลุ่มนี้ก็มาจากแหล่งเดียวกัน

"สามมิตร" กับ "ทางสามแพร่ง"



จังหวะก้าวการเมืองของกลุ่มสามมิตรนับจากนี้ หลังจากยอมแถลงจบปัญหาร่วมกับหัวหน้าพรรค คุณอุตตม สาวนายน ยังมีแนวโน้มเป็นไปได้ 3 ทาง เพราะกูรูการเมืองเชื่อว่างานนี้ไม่จบง่ายแน่


1. กลืนเลือดร่วมรัฐบาลต่อไป แล้วรอจังหวะยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพื่อหาชายคาใหม่ หรือสร้างบ้านเอง เพื่อรอเป็นตัวแปรร่วมรัฐบาลชุดหน้า


2. เก็บความแค้นไว้ในอก แล้วร่วมรัฐบาลต่อ เพื่อรอจังหวะฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ซึ่ง 4 กุมารอยู่ในคิวถูกซักฟอก) แล้วตลบหลังยกมือให้ฝ่ายค้าน หรืองดออกเสียง


สองแนวทางนี้ดูจะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด


หรือ 3. เก็บข้าวของออกจากพรรคไปตอนนี้เลย แต่แนวทางนี้เป็นไปได้น้อยที่สุด เพราะอย่างไรเสีย ในระยะสั้น นายกฯก็ยังต้องชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากมีเงื่อนไข 376 เสียงถึงจะได้เป็นนายกฯ ทำให้ต้องใช้ "ส.ว.รอโหวต"


จะเห็นได้ว่าทั้งสามแนวทาง ล้วนเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลอายุสั้นทั้งสิ้น

logoline