svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดค่ายกล "มีชัย" ปิดตายแก้รัฐธรรมนูญ?

01 กรกฎาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความเคลื่อนไหวการเมืองนอกสภาที่กำลังเริ่มคึกคัก ร้อนแรง จากกรณี "จ่านิว" ถูกทำร้ายปางตาย ทำให้นักสังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคนประเมินว่าสถานการณ์แบบนี้อาจ "จุดติด" รอเพียงไม้ขีดอีกสักก้านสองก้าน

ประเด็นคาใจที่ทุกฝ่ายรับไม่ได้ และสร้างกระแสลบทางการเมืองอย่างมากในช่วงใกล้เคียงเคสจ่านิว ก็คือที่มาของ "ส.ว.ชุดคนกันเอง" และการรุมทึ้งแย่งเก้าอี้รัฐมนตรี จนป่านนี้ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้

ฉะนั้นหากฝ่ายผู้มีอำนาจตเดินหมากพลาดแค่ตาเดียว อาจแพ้ทั้งกระดาน เพราะมีงานใหญของฝ่ายตรงข้ามรออยู่ นั่นก็คือการแก้รัฐธรรมนูญ

ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่ประกาศ "ปักธง" ไม่เอา "กติกาประเทศ" ฉบับนี้ พร้อมชูร่างแก้ไข 2 มาตราสำคัญ คือมาตรา 272 กับ มาตรา 279 ซึ่งจะว่าไปก็คือ "กล่องดวงใจ" ของ คสช. และการต่อท่ออำนาจของ "บิ๊กตู่" พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง

มาตรา 272 กำหนดให้ ส.ว. 250 คนร่วมโหวตเลือกนายกฯ


มาตรา 279 คือบทบัญญัติรับรองการกระทำทั้งหมดของ คสช. ให้ชอบด้วยกฎหมาย

เปิดค่ายกล "มีชัย" ปิดตายแก้รัฐธรรมนูญ?


แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกรรมการร่างฯ ชุด อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ได้วางค่ายกลเอาไว้แน่นหนา

เริ่มจากหลักเกณฑ์การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฟังดูเผินๆ เหมือนง่าย เพราะเสนอได้จาก 4 ช่องทางด้วยกัน เลือกเอาช่องทางใดช่องทางหนึ่งก็พอ...

ช่องทางที่หนึ่ง เสนอโดยคณะรัฐมนตรี พูดง่ายๆ ก็คือรัฐบาลเสนอเอง

ช่องทางที่สอง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ตัวเลขกลมๆ ก็คือ ส.ส.100 คน (พรรคอนาคตใหม่พรรคเดียวก็เกือบได้แล้ว)

ช่องทางที่สาม ส.ส. และ ส.ว.จับมือกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 คิดตัวเลขกลมๆ 1 ใน 5 ของ 750 ก็คือ 150 คน

และช่องทางที่สี่ ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน (ปัจจุบันแคมเปญล่าชื่อตั้งเป้าไว้เป็นแสนคนด้วยซ้ำไป)

จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 ช่องทางไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ความยากยี่ห้อ "มีชัย" ยังมีรออยู่นับจากนี้

นั่นก็คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องส่งเข้าที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา หมายถึงประชุมร่วมระหว่าง ส.ส. และส.ว. ทั้ง 3 วาระ (ไม่ใช่ผ่านสภาผู้แทนฯก่อนแล้วค่อยไปผ่านวุฒิสภาเหมือนกฎหมายทั่วไป)

วาระแรก เรียกว่า "รับหลักการ" ต้องได้เสียงเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งก็คือ 375 เสียงขึ้นไป ฟังดูก็ยังปกตินะ ใช้เสียงข้างมากธรรมดา ดูถึงแค่นี้หลายคนอาจจะคิดว่า สมมติ ส.ส.อยากแก้ แต่ ส.ว.ไม่อยากแก้ ส.ส. 500 คนรวมเสียงกันให้ได้ 375 เสียงก็แก้ได้แล้ว แต่จริงๆ คิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขที่เป็นเหมือน "เงื่อนตาย" กำหนดเอาไว้ว่า ในจำนวนเสียงเห็นชอบอยากให้แก้ ต้องมี ส.ว.รวมอยู่ด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด 250 คน นั้นก็คือต้องมี ส.ว.ร่วมโหวตอย่างน้อย 84-85 คน จึงจะผ่านวาระแรกได้ แถมการลงคะแนนต้องใช้วิธีขานชื่อและลงคะแนนแบบเปิดเผย (นึกถึงวันโหวตเลือกนายกฯ ต้องแบบนั้นเลย ฉะนั้นจะงุบงิบแอบลงคะแนนให้ฝ่ายตรงข้าม เป็นงูเห่าสภาสูง แบบนี้ทำไม่ได้)

จากเงื่อนไขที่เล่ามา เอาแค่ให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระแรกก็ยากแล้ว โดยเฉพาะถ้าจะแก้ตามที่พรรคอนาคตใหม่ประกาศ คือแก้ 2 มาตรา / 272 กับ 279 เพราะ 1 ใน 2 มาตรานี้ เป็นการลดอำนาจของ ส.ว. นั่นก็คืออำนาจโหวตเลือกนายกฯ แล้วใครจะยอมยกมือให้

ฉะนั้นสมมติ ส.ส.แพ็คกันทั้งสภา ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล จับมือกันอยากแก้รัฐธรรมนูญ มีเสียงสนับสนุนถึง 500 เสียง แต่ ส.ว.ไม่เอา หรือเอาด้วยไม่ถึง 84 คน ก็แก้ไม่ได้ นี่แค่วาระแรก

เอ้า...สมมติผ่านวาระแรกไปได้ ไปถึงวาระ 2 วาระนี้ไม่มีอะไร ให้พิจารณาเรียงมาตรา และโหวตทีละมาตรา โดยใช้เสียงข้างมากธรรมดา

จุดพีคอยู่ที่วาระ 3 เพราะนอกจากต้องมีเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 376 เสียงขึ้นไป และในจำนวนนี้ต้องได้เสียงจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84-85 คนเหมือนในวาระแรกแล้ว ยังต้องมีเสียง ส.ส.จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภา และรองประธานสภา อีกไม่น้อยกว่า 20% ของทุกพรรครวมกัน ซึ่งพรรคการเมืองที่ว่านี้ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพรรคเอสเอ็มอีทั้งหลายที่ไม่มีโควต้ารัฐมนตรีในรัฐบาลด้วย

แค่นั้นยังไม่พอ หลักเกณฑ์การแก้รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้การแก้ไขในบางประเด็น เช่น เรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องมีขั้นตอนการทำประชามติ ฟังเสียงจากคนทั้งประเทศด้วย

นี่คือด่านหินของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะว่าไปโดยหลักการแล้ว การที่่รัฐธรรมนูญแก้ยากนั้นไม่ผิด เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่การวางค่ายกลให้แก้ยากเกินไป หรือในทางปฏิบัติแล้วแก้ไม่ได้เลย แบบนี้ต้องระวังเกิดภาวะ "กาต้มน้ำเดือดที่ไม่มีรูระบาย" อาจกลายเป็นชนวนให้การเมืองถึงจุดระเบิดได้เหมือนกัน

logoline