svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

หุ้นสื่อ...."ธนาธร-ส.ส.รัฐบาล" สองมาตรฐานจริงหรือ?

20 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ช่วงนี้พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทย แท็กทีมถล่มรัฐบาลและดักคอศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นการตรวจสอบการถือครองหุ้นกิจการสื่อสารมวลชน ที่มีการยื่นตรวจสอบ ส.ส.รัฐบาล 41 คนผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่พรรคพลังประชารัฐเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ ส.ส.ทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเหมือนกรณีหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีวาระพิจารณาเรื่องนี้ ขณะที่ทีมกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ นายทศพล เพ็งส้ม ได้เข้าขอตรวจคำร้องการถือครองหุ้นสื่อของ ส.ส.รัฐบาล 41 คนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย ส่งมายังศาล ปรากฏว่ามี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 27 คน โดยนายทศพลมีแนวคิดจะยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้คุ้มครองชั่วคราว ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยให้เหตุผลว่าจะกระทบกับงานสภา

โฆษกพรรคเพื่อไทย นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ บอกว่า ความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐเป็นการเอาเปรียบ และขาดสปิริต ทั้งๆ ที่ควรมีความเป็นธรรมและยืนอยู่บนมาตรฐานเดียวกันกับนายธนาธร คือหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยจึงขอเรียกร้องให้สังคมติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดว่าการตรวจสอบการถือหุ้นสื่อ มีความยุติธรรมหรือสองมาตรฐาน

การดำเนินการเรื่องนี้ของศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นเรื่อง "สองมาตรฐาน" เพราะคำร้องให้ตรวจสอบการถือครองหุ้นสื่อของนายธนาธร เป็นการยื่นเรื่องโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ซึ่งได้สอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว และเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล จึงส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัย จากนั้นศาลใช้เวลาพิจารณา 7 วัน จึงสั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ฉะนั้น กกต.จึงทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็น "พนักงานสอบสวน และอัยการ" คือมีการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว และได้เรียกนายธนาธรเข้าให้ปากคำแล้ว สำนวนที่ถูกส่งถึงศาล จึงถือว่าผ่านการตรวจสอบเบื้องต้นมาก่อนแล้วว่ามีมูล


หุ้นสื่อ...."ธนาธร-ส.ส.รัฐบาล" สองมาตรฐานจริงหรือ?


ส่วนกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของ ส.ส.รัฐบาล 41 คนนั้น เป็นการยื่นตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส.โดยใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ประธานสภาไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น เพียงแค่ตรวจสอบคำร้องและจำนวน ส.ส.ที่ยื่นคำร้องว่าครบถ้วนตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดฉะนั้นประธานสภาจึงทำหน้าที่เหมือน "ไปรษณีย์" แค่ส่งผ่านคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยยังไม่มีการตรวจสอบเบื้องต้นว่าข้อกล่าวหามีมูลหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริง เหตุนี้เองคำร้องทั้งสองเรื่องจึงแตกต่างกัน จะใช้มาตรฐานหรือกรอบเวลาเดียวกันกับกรณีของนายธนาธรไม่น่าจะได้

ข้อกล่าวหาการถือครองหุ้นของนายธนาธร เป็นการถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนจริงๆ คือ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ส่วน ส.ส.คนอื่นที่ถูกยื่นให้ตรวจสอบ ส่วนใหญ่เป็นการถือครองหุ้นในกิจการอื่น แต่กิจการนั้นแจ้งวัตถุประสงค์การประกอบกิจการแบบ "ครอบจักรวาล" ตามแบบเอกสารจด "บริคณห์สนธิ" ที่จัดทำโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ฉะนั้นการนำคดีหรือข้อกล่าวหา 2 กรณีนี้มาเปรียบเทียบกัน จึงอาจทำไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงแตกต่างกัน

logoline