svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

6 คำถามกับคำตอบที่ต้องรอ..."ส.ว.คนกันเอง"

15 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัญหาการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ซึ่งทำท่าว่าจะไม่จบง่าย ล่าสุดโฆษกพรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้ 2 แกนนำ คสช.ออกมาอธิบายชัดๆ ด้วยตัวเอง แทนที่จะปล่อยให้รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เป็น "หนังหน้าไฟ" พูดอยู่คนเดียว พร้อมส่งคำถามถึงอดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ถ้า ส.ว.เป็นโมฆะจะมีทางออกอย่างไร

ปัญหาการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.โดยเฉพาะในสาย 194 คนที่ คสช.แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาเอง ซึ่งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.สาย 194 นี้มี พลเอกประวิตร เป็นประธาน ต้องบอกว่ายังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่หยุด โดยเฉพาะกรณีที่กรรมการสรรหาฯ เกือบทั้งหมดได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว.ด้วย ทำให้ถูกตั้งคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และความโปร่งใสในกระบวนการสรรหา โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านจะใช้ช่องทางสภาในการตรวจสอบเรื่องนี้

ล่าสุด โฆษกพรรคเพื่อไทย ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ออกมาเรียกร้องให้รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม หยุดอธิบายเหตุผลที่มีการปกปิดรายชื่อคณะกรรมการสรรหาฯ แต่ขอให้ พลเอกประยุทธ์ ผู้ลงนามแต่งตั้งและพลเอกประวิตร ออกมาชี้แจงแทนให้ชัดเจน โดยเฉพาะกระบวนการสรรหา และงบประมาณที่ใช้ไป

ประเด็นสำคัญที่ต้องชี้แจงคือ หนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ที่ พลเอกประยุทธ์ ลงนามเมื่อวันที่ 8 ก.พ.เหตุใดจึงไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีความพยายามปกปิดเผยอย่างมีเลศนัยหรือไม่ โดยเฉพาะมีข่าวว่า ส.ว. 2-3 คนไม่ได้มีชื่ออยู่ในบัญชี 400 คนที่สรรหามา แต่กลับมีชื่อโผล่มาเป็น ส.ว.ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งหากเป็นจริง พลเอกประวิตร ต้องรับผิดชอบ

โฆษกพรรคเพื่อไทย ยังตั้งคำถามถึง มีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เมื่อ คสช.ยุติบทบาทไปแล้วตามรัฐธรรมนูญหลังคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ จะให้องค์กรใดทำหน้าที่คัดสรร ส.ว.เข้ามาใหม่ หาก ส.ว.ทั้ง 250 คน และสำรอง 50 คน มีอันต้องโมฆะไปจากการสรรหาโดยมิชอบ



ประธานฝ่ายกฏหมายพรรคเพื่อไทย ชูศักดิ์ ศิรินิล บอกว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ การตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งมองว่าไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่าคณะกรรมการสรรหาฯ ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ แต่นายพลทั้งหลายที่เป็นกรรมการ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือไม่ และทุกคนล้วนแล้วมาจาก คสช. จึงมีคำถามเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง โดยเฉพาะหัวหน้า คสช.กลายเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง จึงไม่มีความเป็นกลาง ฉะนั้นคณะกรรมการสรรหาฯ จึงขัดรัฐธรรมนูญ กระบวนการสรรหาก็มิชอบ และอาจทำให้การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นโมฆะด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยกำลังหาลู่ทางเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้จนถึงที่สุด

"ล่าความจริง" สรุปคำถามที่ยังคาใจหลายๆ ฝ่าย เกี่ยวกับกระบวนการสรรหา ส.ว. หรือ สมาชิกวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติ ซึ่งบางคำถามก็มีคำตอบจากคุณวิษณุแล้ว แต่เหมือนจะยังไม่ใช่คำตอบที่หลายคนคาดหวังเริ่มจากประเด็นแรก ทำไมรัฐบาลหรือ คสช.ไม่ยอมเปิดคำสั่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ แถมคำสั่งนี้ยังหายไปจากสารบบ ประเด็นนี้ยังไม่มีคำตอบ2. ทำไมมีการประกาศรายชื่อ ส.ว.สำรอง ล็อต 2 ล่าช้า ประเด็นนี้ รองนายกฯ วิษณุ ตอบแล้วว่า การประกาศช้าไม่ผิดกฎหมาย3. ในจำนวน ส.ว. 250 คน มีบางคนอยู่นอกบัญชีสรรหา แต่กลับได้ตำแหน่งหรือไม่ ประเด็นนี้ยังไม่มีคำตอบ


4. มี ส.ว.สำรองมาจากนอกบัญชีสรรหา 400 คนหรือไม่ ประเด็นนี้ก็ยังไม่มีคำตอบเช่นกัน5. การที่กรรมการสรรหาฯ ได้เป็น ส.ว.ด้วย ที่คุณวิษณุเรียกว่า "ไม่มีเสนอชื่อตัวเอง มีแต่เสนอชื่อกันเอง" เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ คล้ายๆ ชงเอง ตบเอง แถมยังไปทำหน้าที่เลือกหัวหน้าคนที่ตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ เป็นนายกฯอีกด้วย ประเด็นนี้ยังไม่มีคำตอบและข้อ 6. ถ้าการตั้ง ส.ว.เป็นโมฆะ องค์กรไหนจะมีอำนาจตั้งใหม่ ประเด็นนี้ก็ยังไม่มีคำตอบเช่นกัน ระวังไปถาม คุณมีชัย อาจได้รับคำตอบว่าเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่คนตีความรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ทำท่าเป็นหนังเรื่องยาว โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่เวทีสภา ถึงวันนั้นทั้ง นายกฯ และ บิ๊กป้อม น่าจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหาคำตอบมาชี้แจงให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจ

logoline