svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รู้จัก "ไอโอ" เมื่อโซเชียลมีเดียฉีกกฎสงครามข่าวสาร

11 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ล่าความจริง" วันนี้ เปิดรายการกันด้วยประเด็น "ไอโอ" ที่กำลังฮิตในการกล่าวหากันทางโลกออนไลน์ ล่าสุดกรณีของ "คุณช่อ" ที่มีคนไปขุดภาพถ่ายในอดีตที่ถูกมองว่าไม่ค่อยจะเหมาะสมของเธอ แล้วเธอก็ชี้แจงอ้างว่าเป็น "งานไอโอของทหาร" ทำให้หลายคนเข้าใจว่า "ไอโอ" ทำได้เฉพาะฝ่ายรัฐหรือกองทัพเท่านั้น บ้างก็ไปเชื่อมโยงกับการทำปฏิวัติรัฐประหารโน่นเลย ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ค่อยจะถูกต้องนัก เราก็เลยอาสานำเรื่องราวของ "ไอโอ" มาเล่าให้คุณผู้ชมฟังแบบง่ายๆ

"ไอโอ" ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Information Operation หรือ "ปฏิบัติการข่าวสาร" ซึ่งในอดีตถูกนำมาใช้ชิงความได้เปรียบในการรบหรือการทำสงคราม

หลักการสำคัญของ ไอโอ คือการเผยแพร่ความคิดและความเชื่อของฝ่ายเราให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และทำให้เกิดความคิดความเชื่อคล้อยตามความประสงค์ของฝ่ายเรา ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางระงับยับยั้ง ขัดขวาง หรือทำลายศักยภาพด้านการ "ไอโอ" ของฝ่ายตรงข้าม หรือฝ่ายศัตรู เพื่อไม่ให้สามารถเผยแพร่ความคิดความเชื่อต่อกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายของเราได้

นี่คือความหมายพื้นฐานแบบเข้าใจง่ายๆ ที่ "ล่าความจริง" ได้รับมาจากอดีตผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบหน่วยงานด้านการข่าวของเมืองไทย

ทีนี้ไปว่ากันต่อกับ "วิธีการเผยแพร่ความคิดความเชื่อ" ที่สามารถส่งถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด แน่นอนว่าจำเป็นต้องพึ่งพาสื่อทุกชนิด ฉะนั้นในอดีต ฝ่ายที่ทำไอโอหนักๆ จึงเป็น "ฝ่ายรัฐ" เพราะคุมสื่อแทบทุกชนิดอยู่ในมือ แต่ในยุคปัจจุบันมีโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ ที่ทุกคนเป็นสื่อและผลิตสื่อได้ด้วยตนเอง ทำให้งาน "ไอโอ" ไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ภาครัฐอีกต่อไป ฉะนั้นหากใครมีขีดความสามารถ หรือ "ทักษะ" ในการใช้สื่อประเภทต่างๆ ได้มากกว่า ก็จะทำไอโอได้เหนือกว่าอีกฝ่าย

ที่สำคัญ ความเชี่ยวชาญการใช้ "สื่อใหม่" หรือ นิวมีเดีย ยังสามารถระงับ ขัดขวางการ "ไอโอ" ของฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย เช่น วิธี report หรือวิธีใช้คนจำนวนมากเข้าไปใช้เว็บ เพจเฟซบุ๊ค หรืออินสตราแกรมของฝ่ายตรงข้ามพร้อมๆ กันจนเว็บหรือเพจล่ม หรือถ้าเป็นระดับมืออาชีพมากกว่านั้น อาจใช้การโจมตีด้วยไวรัสกันเลยทีเดียว

สถานการณ์ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการข่าว บอกว่า บางทีคนทั่วไปที่มีความรอบรู้ในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพิเศษ ก็อาจมีความสามารถในการทำ "ไอโอ" เหนือหน่วยงานรัฐบางหน่วยที่ยังมีบุคลากรด้านนี้น้อย หรือบุคลากรไม่พัฒนาตัวเองด้วยซ้ำ

รู้จัก "ไอโอ" เมื่อโซเชียลมีเดียฉีกกฎสงครามข่าวสาร

การทำ "ไอโอ" ที่เห็นชัดๆ ในบ้านเรา ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ก็คือการทำสงครามข่าวสารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งว่ากันว่าเป็นพื้นที่ที่ "ข่าวลือ" ทำงานสำเร็จมากที่สุดพื้นที่หนึ่งของประเทศ

วิธีการทำ "ไอโอ" ที่ใช้กันทั่วไป หลักสำคัญคือเริ่มจากการหา "จุดสนใจ" แล้วสร้าง "คีย์เวิร์ด" เพื่อสร้างชุดความคิดทำลายฝ่ายตรงข้าม เช่น โจมตีว่าอีกฝ่ายเป็นเผด็จการ แต่ยกตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย (ความจริงเป็นหรือเปล่า เป็นอีกเรื่อง) ซึ่งหาก "คีย์เวิร์ด" นี้เป็น "หัวใจ" หรือเรียกภาษาทหารว่า "จุดศูนย์ดุลย์" หรือ center of gravity ของฝ่ายตรงข้าม การทำไอโอก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพ โดยใช้ "คีย์เวิร์ด" เดิมเป็นตัวเดินเรื่องพัฒนาชุดความคิดไปเรื่อยๆ ฉะนั้นหากฝ่ายไหนครอบครองสื่อได้มากกว่า ก็ถือได้ว่ามีเครื่องมือมากกว่า และมีโอกาสสูงกว่าที่จะชนะในสงครามข่าวสาร

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในทางทฤษฎีแล้ว การทำ "ไอโอ" ที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว ต้องใช้ "ความจริง" ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท่านั้น เพราะหากใช้ "ความเท็จ" หรือการ "ป้ายสี" แม้จะทำให้ได้ชัยชนะในช่วงแรกๆ แต่ก็จะเกิดปัญหาตามมา แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ หลักการนี้ยังใช้ได้จริงหรือไม่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนอย่างรวดเร็วอย่างในปัจจุบัน เพราะหลายๆ ครั้งเราก็เห็นอยู่ตำตาว่า การปล่อยข้อมูลเท็จ หรือ fake news เพียงครั้งเดียว อาจทำให้คู่ต่อสู้ชนะศึกไปได้เลย

ฉะนั้นการทำ "ไอโอ" ในยุคโซเชียลมีเดีย อาจจะมีหลายๆ แง่มุมที่ฉีกกฎดั้งเดิมออกไป ปัจจุบันไปไกลถึงขนาดใช้โซเชียลฯเป็นอาวุธประหัตประหารกันแล้ว รายละเอียดเป็นอย่างไร รอติดตามต่อในวันพรุ่งนี้

logoline