svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชาวทับสะแกยื่น กสม.ขอร่าง "ซีอุย" ไปทำพิธีศาสนา

10 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกหนึ่งประเด็นที่ "ล่าความจริง" เกาะติดมาตลอด ก็คือกรณีที่มีการตั้งแคมเปญล่าชื่อผ่านโลกออนไลน์ เรียกร้องให้คืนความเป็นธรรมแก่ "ซีอุย แซ่อึ้ง" หลังถูกขนานนามว่าเป็น "มนุษย์กินคน" เพราะถูกกระบวนการยุติธรรมสรุปว่าก่อคดีสะเทือนขวัญฆ่าเด็ก แล้วนำชิ้นส่วนอวัยวะมากิน ซึ่งร่างของ "ซีอุย" ถูกจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์นิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช พร้อมป้าย "มนุษย์กินคน" แม้หลังจากมีกระแสเรียกร้องความเป็นธรรมให้ซีอุย ทางศิริราชได้ปลดป้าย "มนุษย์กินคน" ออกแล้ว พร้อมนำข้อมูลเกี่ยวกับคดีและคำพิพากษาของศาลมาติดไว้แทน แต่การรณงค์เรื่องนี้ก็ยังไม่จบ


ชาวบ้านจากอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวนกว่า 50 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณอังคณา นีละไพจิตร เพื่อขอให้ประสานงานนำร่าง นายหลีอุย แซ่อึ้ง หรือ "ซีอุย" ออกจากพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นำไปประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับซีอุย

ตัวแทนชาวบ้านอำเภอทับสะแก บอกว่า นายซีอุย เป็นคนในชุมชนของพวกตน และต้องการที่จะให้สังคมรับรู้ว่า "ซีอุย"ไม่ได้มีพฤติกรรมกินคน หรือกินเนื้อมนุษย์ และคดีความก็ได้มีการตัดสินไปหมดแล้ว ก็ควรจะนำร่างไปประกอบพิธีทางศาสนาตามหลัก "สิทธิของคนตาย" โดยที่ทับสะแก มีชาวบ้านที่เป็นคนเก่าคนแก่เคยใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่ซีอุยยังมีชีวิตอยู่ ก็ยืนยันว่าเขาไม่ได้มีพฤติกรรมกินคนอย่างที่สังคมเข้าใจ

นอกจากนี้ ชาวบ้านอำเภอทับสะแก ยังบอกด้วยว่า พวกเขายินดีที่จะเป็นเจ้าภาพในการประกอบพิธีทางศาสนาให้กับซีอุย รวมถึงการดำเนินการรับร่างจากพิพิธภัณฑ์ไปยังวัดทับสะแกอีกด้วย

คุณอังคณา นีละไพจิตร บอกกับชาวบ้านทับสะแกที่เข้ายื่นหนังสือว่า จะนำเรื่องนี้ไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะปกติมนุษย์ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ก็ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อเสียชีวิตไปแล้วก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับการนำร่างไปประกอบพิธีทางศาสนา กรณีของซีอุยไม่ได้มีญาติมาแสดงตัว จึงมีกระบวนการนำร่างไปไว้ที่โรงพยาบาลศิริราช ฉะนั้นทางกรรมการสิทธิ์ฯ จะรับเรื่องไว้เพื่อพิจารณาและประสานกับพิพิธภัณฑ์ศิริราชต่อไป

"ล่าความจริง" ได้รับข้อมูลจากผู้บัญชาการเรือนจำท่านหนึ่ง ที่เคยปฏิบัติหน้าที่ในเรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งเป็นเรือนจำแห่งเดียวที่ถูกใช้เป็นสถานที่ประหารชีวิตนักโทษ และยังเป็นสถานที่ประหารชีวิตซีอุยด้วย โดยผู้บัญชาการเรือนจำรายนี้ บอกว่า การนำร่างของนายซีอุยไปทำการศึกษาวิจัยนั้น เป็นเรื่องนานกว่า 60 ปีแล้ว จึงไม่แน่ใจว่า ระเบียบหรือข้อกฎหมายในตอนนั้นมีขั้นตอนอย่างไร แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางกรมราชทัณฑ์มีระเบียบปฏิบัติอย่างชัดเจนมาตลอดในการนำร่างนักโทษประหารไปประกอบพิธีทางศาสนา หรือนำไปทำอย่างอื่น

โดยหลังจากถูกประหารแล้ว ร่างไร้วิญญาณของนักโทษจะถูกนำไปเก็บไว้ในห้องเย็น 1 คืน เพื่อให้แพทย์ได้ทำการชันสูตรอย่างละเอียดอีกครั้ง กรณีที่ผู้ต้องขังมีครอบครัวหรือญาติ ทางเรือนจำก็จะติดต่อให้มารับศพไปประกอบพิธีทางศาสนา เพราะการจัดการศพผู้เสียชีวิต ถือเป็นสิทธิ์ของทายาท หากตีความอิงกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ที่ระบุว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ต้องขังไม่มีญาติพี่น้อง หรือ "ศพไร้ญาติ" ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีองค์กรหรือหน่วยงานใดมาขอรับร่างไปประกอบพิธีทางศาสนาหรือไม่ เนื่องจากทางเรือนจำไม่มีอำนาจในการเก็บศพของผู้ต้องขังเอาไว้ได้

ฟังคำชี้แจงแบบนี้ ก็อาจสรุปได้ว่า กรณีของซีอุย อาจเป็นช่องโหว่ในช่วงที่ระเบียบกฎหมายต่างๆ ไม่ชัดเจน ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะตั้้งวงหารือกันเพื่อสรุปทางออกเรื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะการคำนึงถึงสิทธิ์ของผู้ตาย

logoline