svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รอถล่ม "ว่าที่นายกฯ" กลางสภา

03 มิถุนายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อย่างที่บอกไว้แล้วว่า วันพุธที่ 5 มิถุนายน จะเป็นวันประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แม้ฝ่าย 7 พรรคพันธมิตรขั้วเพื่อไทยจะยังไม่สรุปว่าจะเสนอชื่อใครชิงตำแหน่งนายกฯ แต่ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐและพรรคพันธมิตรจะเสนอชื่อ "ลุงตู่" พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอย่างแน่นอน ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการเลือกนายกฯหลายประการ

ผู้ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตล่าสุดคือ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา โดยคุณวันนอร์ บอกว่า ผู้ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ และจะได้รับการเสนอชื่อให้สมาชิกรัฐสภาได้โหวต ควรปรากฏตัวในที่ประชุมารัฐสภา และแสดงวิสัยทัศน์ให้สมาชิกได้ฟัง แม้ไม่มีกฎหมายบังคับให้ทำก็ตาม แต่คงเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่สมาชิก 750 คนต้องเลือกนายกฯทั้งที่ไม่ได้เห็นหน้าหรือได้ฟังวิสัยทัศน์ของคนที่กำลั้งจะถูกเลอืก

คุณวันนอร์ ยังบอกอีกว่า พลเอกประยุทธ์ หนึ่งในแคนดิเดต มีคุณสมบัติที่ถูกตั้งข้อกังขาว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ฉะนั้นควรทำให้เรื่องนี้ชัดเจนก่อนโหวต และสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ก็ไม่ควรโหวตเลือก พลเอก ประยุทธ์ เพราะจะเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจาก ส.ว.ชุดนี้ได้รับแต่งตั้งจาก คสช.ที่มี พลเอกประยุทธ์ เป็นตัวหน้า โดยเฉพาะผู้บัญชาการเหล่าทัพ 6 คนที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ที่ได้รับเลือกโดย พลเอกประยุทธ์ ทั้งสิ้น แต่คนเหล่านี้กำลังจะมาโหวตเลอืก พลเอกประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯอีก ทำให้ถูกตั้งคำถามเรื่องต่างตอบแทน

สรุปก็คือ การโหวตเลือกนายกฯหนนี้ มีเสียงเรียกร้องหลายอย่างจริงๆ ทั้งการให้ตัวแคนดิเดตมาแสดงตัว ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ได้อยู่ในสภา และยังให้แสดงวิสัยทัศน์ด้วย ซึ่งทั้งหมดไม่ได้มีการกำหนดบังคับในกฎหมาย การจะอนุญาตหรืออนุญาตจึงอยู่ที่ประธานรัฐสภา และสมาชิกที่จะพิจารณาร่วมกัน

สำหรับการเตรียมอภิปรายประเด็นคุณสมบัติของ พลเอกประยุทธ์ ล่าความจริงเคยเล่าให้ฟังไปแล้ว มีอยู่ 2 ประเด็นคือ

1.ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามว่ามีสถานะเป็น "เจ้าหน้าที่รัฐ" จากการที่ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช.ในวันที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งอาจทำให้ขาดคุณสมบัติ และ 2.คุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ที่บัญญัติในมาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญ โดยวงเล็บ 5 ระบุว่า "ต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง" ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมนี้ เพิ่งมีกฎหมายออกมา และมีผลบังคับใช้แล้ว คือ พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม โดยในมาตรา 5 วงเล็บ 1 เขียนไว้ชัด ต้องยึดมั่นในระบอบการปกครองประชาธิปไตย แต่ฝ่าย 7 พรรคขั้วเพื่อไทยมองว่า พลเอกประยุทธ์ คือผู้นำที่ทำรัฐประหาร ล้มการปกครองประชาธิปไตย จึงอาจขาดคุณสมบัติข้อนี้

ว่ากันว่าการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ น่าจะยืดเยื้อ ไม่จบง่าย ถึงขั้นที่ คุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยังไม่ยอมสรุปการันตีว่า จะใช้เวลาแค่วันเดียวหรือหลายวัน

logoline