svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เมื่อโรงพยาบาลถูกแก๊งอันธพาลยึดเป็นสมรภูมิ

20 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ล่าความจริง"วันนี้ เปิดรายการกันด้วยปัญหาการใช้ความรุนแรง ทะเลาะวิวาทในโรงพยาบาล โดยเฉพาะจากน้ำมือกลุ่มวัยรุุ่นอันธพาล ซึ่งระยะหลังเกิดขึ้นบ่อยมาก เฉพาะเมื่อคืนก็เกิด 2 เหตุการณ์ที่โรงพยาบาลเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานี กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จังหวัดยโสธร


ที่โรงพยาบาลเหล่าเสือโก้ก ผู้ก่อเหตุเป็นชายวัย 41 ปี (ไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว) ควงมีดปังตอบุกฟันคู่อริที่กำลังรักษาตัวอยู่ในห้องฉุกเฉิน จนได้รับบาดเจ็บสาหัส อุปกรณ์ทางการแพทย์ได้รับความเสียหาย โดยเป็นเหตุที่ลุกลามมาจากเหตุชกต่อยกันในงานบุญหมู่บ้าน

ส่วนที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา กลุ่มวัยรุ่นหัวร้อนทะเลาะกันมาจากงานบุญบั้งไฟ ตามมาเล่นงานคู่อริต่อ เจอคนแก่ขาพิการมาขวางก็ไม่สนใจ รุมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสไปอีกคน

ระยะหลัง เหตุการณ์ความรุนแรงในโรงพยาบาลต้องบอกว่า "เกิดขึ้นถี่ยิบ" ทำให้โรงพยาบาลที่ควรเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" กลายเป็น "พื้นที่เสี่ยงภัย" คุณผู้ชมลองย้อนดูเหตุรุนแรงในโรงพยาบาลที่ "ล่าความจริง" ตรวจสอบย้อนหลังมา นับเฉพาะแก๊งอันธพาลตามไปเช็คบิลกันนะ เฉพาะปีนี้ก็ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้งแล้ว

นอกจากนั้นยังมีเหตุที่กระทำรุนแรงต่อบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง อย่างเมื่อปี 55 คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงศีรษะบุรุษพยาบาล โรงพยาบาลเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว เสียชีวิตคาห้องฉุกเฉิน เพราะไม่พอใจที่พาภรรยามารักษา แต่บุรุษพยาบาลถามมาก ไม่ยอมเริ่มรักษา จึงชักปืนจ่อยิงจนเสียชีวิต (สะท้อนความหละหลวม ไม่มีเครื่องตรวจอาวุธก่อนเข้าโรงพยาบาล)ความุนแรงที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับบุคลากรทางการแพทย์ หลายเหตุการณ์มีภาพจากกล้องวงจรปิด จะเห็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลต้องวิ่งหนีเอาตัวรอดกันจ้าละหวั่น ทั้งๆ ที่งานประจำก็หนักและเสี่ยงอยู่แล้ว


ตัวแทนสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย คุณปุญญิศา วัจฉละอนันท์ บอกกับ "ล่าความจริง" ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลถือเป็นปัญหาระดับชาติ และสถิติการเกิดเหตุก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ หากสังเกตจะพบว่ามักเกิดในช่วงกลางคืน เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีเจ้าหน้าที่น้อย ที่ผ่านมาแม้จะมีการประสานงานร่วมกับตำรวจและอัยการในการป้องกันเหตุ แต่ก็ยังเกิดปัญหาแบบเดิมไม่หยุดหย่อน แนวทางที่เคยเสนอก็เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่ม การติดตั้งเครื่องตรวจอาวุธที่เชื่อมต่อไปยังสถานีตำรวจ การทบทวนโครงสร้างของห้องฉุกเฉินให้มีทางออกสำหรับเจ้าหน้าที่ เพราะส่วนใหญ่ห้องฉุกเฉินจะมีทางเข้า-ออกแค่ทางเดียว เมื่อเกิดเหตุขึ้น เจ้าหน้าที่ไม่สามารถหลบหนีได้

นอกจากนี้ ยังขอฝากให้สังคมได้รับทราบว่า อุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐที่ใช้รักษาชีวิตผู้ป่วยนั้น มีราคาสูงมาก ที่สำคัญหากถูกทำลายเสียหาย นั่นหมายความว่าคนในชุมชน ตำบล หรืออำเภอ จะไม่มีอุปกรณ์สำหรับรักษา ต้องรอจัดซื้อใหม่ ซึ่งใช้เวลาานมาก

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาตรการ 7 ข้อ สำหรับป้องกันเหตุรุนแรงในโรงพยาบาล ซึ่งมาตรการหลักๆ ก็คล้ายๆ กับที่ทางตัวแทนสหภาพพยาบาลฯเสนอเอาไว้ ที่เพิ่มขึ้นมาคือมี "ประตูนิรภัย" แบบล็อคได้ทันที และสื่อสารญาติผู้ป่วยเป็นระยะเพื่อลดความกังวล

คุณผู้ชมลองคิดดูนะ โรงพยาบาลเสียหายจากพวกแก๊งอันธพาล แต่กลับต้องเสียงบเพิ่ม ทั้งติดกล้องวงจรปิด ติดประตูนิรภัย ติดสัญญาณฉุกเฉิน ซึ่งล้วนต้องใช้งบที่เป็นภาษีของประชาชน และต้องใช้เวลา คำถามคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้กฎหมายลงโทษคนพวกนี้ให้เด็ดขาด แม้ว่าการก่อเหตุร้ายในโรงพยาบาล จะไม่ใช่ "เหตุฉกรรจ์ ต้องลงโทษบทหนักตามกฎหมายอาญา" ก็ตาม

"ล่าความจริง" พูดคุยกับ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด คุณประยุทธ์ เพชรคุณ ได้ความว่า การบรรยายฟ้องของอัยการจะดูพฤติการณ์ประกอบ ถ้าผู้ต้องหาทำร้ายร่างกายคนเจ็บ หรือคนที่บาดเจ็บสาหัสอยู่แล้วในโรงพยาบาล ก็อาจตั้งข้อหาพยายามฆ่า ถ้าเข้าไปทำร้ายในเขตหวงห้ามเฉพาะสำหรับแพทย์-พยาบาลเท่านั้น ก็เข้าข่ายบุกรุก หรือร่วมกันบุกรุก หรือร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน ซึ่งมีโทษเพิ่มขึ้น มีโทษจำคุกสถานหนัก และหากการกระทำของผู้ต้องหาทำให้เครื่องมือแพทย์พังเสียหาย ก็จะถูกตั้งข้อหาเจตนาทำให้เสียทรัพย์ เป็นความผิดทางอาญาควบแพ่ง สามารถฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายได้

สรุปก็คือต้องบรรยายฟ้องให้ชัด เพราะคนพวกนี้ไม่เกรงกลัวกฎหมาย และสร้างความเดือดร้อนให้สุจริตชน

logoline