svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

โกงคนพิการลาม! เสนอฟัน ขรก.เอี่ยวทุจริต

02 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เรื่องเกี่ยวกับค่าจ้าง-ค่าแรงยังไม่จบ มีประเด็นตรวจสอบทุจริตที่ "ล่าความจริง" เกาะติดมาตลอดตั้งแต่ต้น คือพฤติการณ์โกงคนพิการและผู้ด้อยโอกาส มีทั้งฉกเงินค่าจ้างกันดื้อๆ หักหัวคิว และปาดหน้าเค้กสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่คนพิการต้องได้รับตามกฎหมาย ที่ผ่านมาเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ โดย คุณปรีดา ลิ้มนนทกุล เดินสายยื่นตรวจสอบในหลายจังหวัด ถึงขั้นที่กระทรวงที่เกี่ยวข้อง 2 กระทรวง คือกระทรวงแรงงาน กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ กระทรวง พม. ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาคนผิด


ความคืบหน้ามี 2 ด้าน เริ่มจากด้านแรก เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ป.ป.ท.ได้สรุปผลสอบทุจริตจ้างงานคนพิการที่จังหวัดกาฬสินธุ์และนครพนมแล้ว (จริงๆ มีการร้องไปหลายจังหวัด แต่สรุป 2 จังหวัดแรกก่อน)

เลขาธิการ ป.ป.ท. พันตำรวจโท วันนพ สมจินตนากุล บอกว่า ปกติแล้วคนพิการจะได้รับการคุ้มครองและได้รับการช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการผ่านการจ้างงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แต่มีผู้ร้องเรียนว่าคนพิการถูกสมาคมและมูลนิธิช่วยเหลือคนพิการต่างๆ ในจังหวัดกาฬสินธุ์และนครพนมหักหัวคิว จ่ายเงินให้จริงเพียงเดือนละ 500-3,000 บาท จากอัตราค่าจ้างเต็มอยู่ที่ 9,125 บาทต่อเดือน หรือ 109,500 บาทต่อปี

นอกจากนั้นยังมีการจ้างงานให้ไปทำงานตามสถานประกอบการต่างๆ ในสัดส่วนพนักงานปกติ 100 คน ต้องจ้างผู้พิการ 1 คน ในส่วนนี้พบว่ามีการจ้างงานคนพิการตามอัตราส่วนที่กำหนดในกฎหมายจริง แต่มีการหักหัวคิวเงินค่าจ้าง ทำให้ได้รับค่าจ้างเพียงคนละ 2,000-7,000 บาทต่อเดือน จากอัตราเงินเดือนเต็มต่ำสุด 9,125 บาท คิดตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท

การตรวจสอบของ ป.ป.ท.ยังพบด้วยว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งสถานประกอบการที่จ้างงานคนพิการตั้งอยู่ และจ้างงานคนพิการจากจังหวัดกาฬสินธุ์กับนครพนม อนุมัติให้จ้างงานโดยไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย (พูดง่ายๆ คือจ้างงานข้ามจังหวัด จะไปทำงานจริงได้อย่างไร) นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดกาฬสินธุ์และนครพนม ยังได้รับรองเอกสารการจ้างงานไม่ตรงตามความเป็นจริงด้วย

สำหรับมูลความผิดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ป.ป.ท.จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.พิจารณาตามกฎหมายใหม่ต่อไป (กฎหมายใหม่ต้องส่งให้ ป.ป.ช.ก่อน แล้ว ป.ป.ช.จะวินิจฉัยว่าจะส่งให้ ป.ป.ท.ดำเนินการ หรือส่งเรื่องกลับต้นสังกัด หรือ ป.ป.ช.ทำเอง)

นอกจากนั้น ป.ป.ท.ยังได้เสนอมาตรการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ้างงานคนพิการ และการติดตามตรวจสอบการจ้างงานภายหลังที่ได้รับอนุญาตแล้ว เพื่อความโปร่งใส และประโยชน์ตกถึงคนพิการจริงๆ

หลังจากมีข่าว ป.ป.ท.สรุปผลสอบทุจริต ทำให้ผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาในจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ถูกหักหัวคิวค่าจ้างจากสมาคมคนพิการแห่งหนึ่งในจังหวัด ดีใจกันอย่างมาก เช่นเดียวกับเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการที่กาฬสินธุ์ บางคนถึงกับร่ำไห้ เหมือนยกภูเขาออกจากอก เนื่องจากต้องเครียดกับการต่อสู้กับทั้งมาเฟียคนพิการและข้าราชการที่เกี่ยวข้องมาเนิ่นนาน

สำหรับการทุจริตงบและเงินอุดหนุนคนพิการนี้ "ล่าความจริง" เกาะติดมาตลอด โดยกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กำหนดให้รัฐและสถานประกอบการภาคเอกชนดูแลอุดหนุนคนพิการตามช่องทางต่างๆ ซึ่งมีอยู่ 3 ช่องทาง 3 รูปแบบด้วยกัน

1.ตามกฎหมายมาตรา 33 ให้สถานประกอบการจ้างงานคนพิการเข้าไปทำงานจริงๆ ในอัตราส่วนคนพิการ 1 คน ต่อการจ้างงานพนักงานปกติ 100 คน

2.ตามกฎหมายมาตรา 34 ให้สถานประกอบการจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามอัตราส่วนการจ้างที่ต้องจ้างตามกฎหมาย (คือไม่ได้จ้างจริง แต่จ่ายเงินสมทบแทน)

และ 3.ให้จัดโครงการฝึกอบรมอาชีพ หรือจ้างเหมาบริการให้กับคนพิการ โดยทุกช่องทาง กฎหมายกำหนดให้คนพิการต้องได้รับค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ คือวันละ 300 บาท เดือนละ 9,125 บาท และปีละ 109,500 บาท แต่ที่ผ่านมากลับมีการโกง ทั้งหักหัวคิว ปั้นตัวเลขคนพิการเท็จ จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด (ฮั้วกันระหว่างสถานประกอบการ กับสมาคมคนพิการที่ทำหน้าที่เหมือนนายหน้า หาชื่อคนพิการไปให้สถานประกอบการจ้าง จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่ทั้งหมดจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าความเป็นจริง และยังถูกสมาคมคนพิการหักหัวคิวซ้ำ)

อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า วงจรทุจริตนี้มีข้าราชการ 2 กระทรวงเข้าไปเกี่ยวข้อง ล่าสุดมีความคืบหน้าการสอบสวนเอาผิดข้าราชการ เบื้องต้นเพิ่งมีการสรุปเสนอให้ออกจากราชการ 1 คน และสอบสวนวินัยร้ายแรงอีก 6 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นข้าราชการในสังกัด 2 กระทรวงที่ดูแลเรื่องสิทธิของคนพิการ

logoline