svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

จับตา "รพ.รัฐ" แค่โรงเรียนฝึกงาน ก่อนย้ายบ้านไปเอกชน

02 พฤษภาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ล่าความจริง"วันนี้ เกาะติดปัญหาคุณภาพชีวิตของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะในกลุ่ม "มดงาน" ที่เป็นกระดูกสันหลังของงานบริการทางการแพทย์ ทั้งพนักงานเวรเปล คนขับรถพยาบาล แม่ครัว แม่บ้าน ธุรการ รวมไปถึงพยาบาล และวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพวกเขามีสถานะเป็นลูกจ้างรายวันบ้าง ลูกจ้างประจำบ้าง พนักงานราชการบ้าง พนักงานของรัฐบ้าง คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ สวัสดิการ หรือสิทธิการรักษาพยาบาลฟรีเหมือนข้าราชการ โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างรายวัน มีรายได้เพียงวันละ 325 บาท ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำในบางจังหวัดด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องการดูแลชีวิตผู้คน


ปัญหานี้ส่งผลกระทบให้เกิดการ "เปลี่ยนงาน" ของบรรดาลูกจ้างในกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมาก ทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง และไม่มีการพัฒนาต่อยอดทักษะหรือความรับผิดชอบที่มากเพียงพอกับภารกิจสำคัญที่ต้องทำ

ประธานสหพันธ์แบคออฟฟิศ กระทรวงสาธารณสุข คุณชาติชาย เดชรัตน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่ายบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข 25 องค์กร บอกกับ "ล่าความจริง" ว่า ปัญหาการลาออก เกิดกับลูกจ้างรายวันมากที่สุด เพราะได้รับผลกระทบจากเงินค่าตอบแทนเพียงวันละ 325 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของพวกเขา เหตุนี้เองจึงทำให้หลายคนเปลี่่ยนงาน เพราะลาออกไปเป็น รปภ.ตามสถานประกอบการต่างๆ ยังมีรายได้มากกว่า รปภ.สมัยนี้ ค่าจ้างวันละ 500 บาท ถ้าเป็นรายเดือนก็มากถึง 20,000 บาท ขณะที่พนักงานเวรเปลของโรงพยาบาลได้แค่หลักพันต่อเดือน

คุณชาติชาย ยังได้ยกตัวอย่างโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านปทุมธานี มีลูกจ้างไปถึง 20 กว่าคนในระยะเวลาไม่นาน

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับลูกจ้างในสายสนับสนุนเท่านั้น แต่กับ "พยาบาล" ผู้รับผิดชอบงานหลักของระบบบริการสาธารณสุข ก็ยังมีปัญหาสมองไหลอย่างรุนแรง

ตัวแทนจากสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย คุณปุญญิศา วัจฉละอนันท์ บอกว่า แต่ละปีมีพยาบาลลาออกนับร้อยคน เหตุผลที่ทุกคนบอกตรงกันคือ ค่าตอบแทนต่ำ ขาดความมั่นคงในชีวิตและความก้าวหน้า เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ โดยช่วงอายุงานที่มีการลาออกมากที่สุดก็คือ 15 ปี

นี่คือเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า โรงพยาบาลเอกชนจ้างพยาบาลในอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐมาก จะเห็นได้ว่าเงินเดือนได้มากกว่าเดิม 1-2 หมื่นบาท และยังมีสวัสดิการในรูปแบบของที่พัก เครื่องแบบ และเงินโบนัสรายปี หากเป็นพยาบาลที่มีประสบการณ์ 3-5 ปีขึ้นไป จะมีการเสนอเงินพิเศษ หรือที่เรียกว่า "เงินตกเขียว" ให้อีก เช่น ค่าเซ็นสัญญาทำงาน 1 ปี อาจจะได้ 5 หมื่นบาท ญญา 2 ปี ได้ 1 แสนบาท โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีออพชั่นจับเซ็นสัญญา 3 ปี ให้เงิน 150,000 บาท เพื่อป้องกันไม่ให้โรงพยาบาลอื่นมาดึงตัวไป

สถานการณ์แบบนี้ย่อมหมายถึงว่า โรงพยาบาลของรัฐกลายเป็น "สถานที่ฝึกงาน" ของบรรดาคนทำงานด้านสาธารณสุข เมื่อมีประสบการณ์มากพอ ก็จะถูกดึงตัว หรือซื้อตัวไป แล้วอย่างนี้คุณภาพการบริการจะเต็มร้อยได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายน่าจะเร่งนำไปพิจารณา

logoline