svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

บริคณห์สนธิครอบจักรวาล... โทษประหารว่าที่ ส.ส.?

30 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การตรวจสอบจากสังคมอย่างหนักหน่วง และการตอบโต้ของผู้ถูกตรวจสอบแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ว่าด้วยข้อเท็จจริงเรื่องการโอนหุ้นกิจการสื่อสารมวลชนของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องบอกว่าทำให้เกิดประเด็นแตกหน่อต่อยอดไปมากมาย โดยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการถือครองหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน "ล่าความจริง" ขอสรุปไล่เรียงให้ฟังดังนี้


ประเด็นแรก มีการกล่าวหาว่ากฎหมายการถือครองหุ้นสื่อ และการตรวจสอบเรื่องนี้ สร้างขึ้นมาเพื่อเตะตัดขาทางการเมืองของบางคน บางพรรคหรือไม่

ประเด็นนี้ จากการตรวจสอบของ "ล่าความจริง" พบว่า การถือครองหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนที่จัดเป็น "ลักษณะต้องห้ามของการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง" นั้น มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาก่อนแล้ว ในมาตรา 48 ซึ่งเป็นข้อห้ามโดยตรง และในมาตรา 265 ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม

แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 บังคับเฉพาะผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรีเท่านั้น หมายความว่าตอนสมัครรับเลือกตั้งไม่ต้องเคลียร์หุ้นกิจการสื่อ แต่ถ้าชนะเลือกตั้ง แล้วจะเข้าไปเป็น ส.ส. แบบนี้ต้องจัดการ ขาย หรือโอนให้บุคคลอื่น หากไม่ดำเนินการ ก็จะถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพ

ส่วนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 2560 คือฉบับปัจจุบัน ยกระดับ "ลักษณะต้องห้ามการถือครองหุ้นสื่อ" เป็นลักษณะต้องห้ามตั้งแต่การสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. รวมทั้งสมัครรับการสรรหาเป็น ส.ว. และแน่นอน...ต้องห้ามสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย โดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42(3) ในข้อความเดียวกัน ฉะนั้นผู้สมัคร ส.ส.ทุกต้องเคลียร์หุ้นสื่อตั้งแต่ก่อนยื่นใบสมัคร


ผู้ที่ฝ่าฝืนยังมีโทษด้วย บัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 คือผู้ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัคร หรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัคร ส.ส. แต่ยังฝืนสมัคร มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลา 20 ปี

สาเหตุที่รัฐธรรมนูญต้องบัญญัติเรื่องนี้ เป็นไปตามหลักสากลเรื่องเสรีภาพสื่อ เพื่อไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเกี่ยวข้องทางการเมืองเข้าไปแทรกแซง ครอบงำสื่อมวลชนได้ เนื่องจากจะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในทางการเมืองได้มาก (วงสัมมนาของนักวิชาการจากหลายประเทศที่เราเล่าให้ฟังในเบรกแรก ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนว่าบทบาทของสื่อมวลชนมีความสำคัญต่อคะแนนนิยมทางการเมืองมากทีเดียว)

ประเด็นที่ 2 เป็นประเด็นที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมาก คือการตรวจสอบการถือครองหุ้นสื่อ มีปัญหาทั้งในเชิงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะผู้สมัคร ส.ส.ที่ถูกตรวจสอบอ้างว่า บริษัทที่ตนเองถือหุ้นนั้น ไม่ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนจริงๆ เพียงแต่ตอนยื่นขอจดแจ้งก่อตั้งบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์ จะมีแบบฟอร์มมาให้กรอกเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การประกอบกิจการ พูดง่ายๆ คือรูปแบบธุรกิจ ซึ่งมีอยู่ในแบบฟอร์มเป็นเอกสารอยู่แล้ว 22 รูปแบบ รวมถึงกิจการสื่อสารมวลชนด้วย ฉะนั้นแม้จะไม่ได้ประกอบกิจการสื่อสารมวลชนจริงๆ แต่ในบริคณห์สนธิก็จะมีแนบเอกสารแบบฟอร์มที่ว่านี้ กลายเป็นว่าแทบทุกกิจการที่จดแจ้งตั้งบริษัท จะมีวัตถุประสงค์อยู่ข้อหนึ่ง คือประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชน หนังสือพิมพ์ และสิ่งพิมพ์ด้วย

"ล่าความจริง" พาคุณผู้ชมไปตรวจสอบเรื่องนี้ นี่คือหน้าเว็บของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสมัยนี้เขาโหลดเอกสาร เตรียมจดแจ้งก่อตั้งบริษัทแบบออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย

พอคลิกต่อไปที่การจดทะเบียนตั้ง "บริษัทจำกัด" คุณผู้ชมจะเห็นหน้านี้ มีเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่คำขอจัดตั้งบริษัท หนังสือบริคณห์สนธิ รายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ พูดง่ายๆ คือวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการ มีแยกย่อยเป็นกิจการพาณิชยกรรม ธุรกิจบริการ กิจการอุตสาหกรรม หัตถกรรม และอื่นๆ ไล่ไปเรื่อยๆ

เราคลิกเข้าไปดูหัวข้อ "รายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ประกอบกิจการ" จะเปิดไปเจอหน้าที่ต้องเขียนเข้าไปเองว่าเราจะประกอบกิจการอะไร ชื่อบริษัทอะไร พร้อมวัตถุที่ประสงค์จะประกอบกิจการ เรียกว่า "เอกสาร ว." ว.เฉยๆ ไม่มีตัวเลขกำกับ

ส่วนเอกสารนี้คือตัวปัญหาที่กำลังพูดกันอยู่นี้ คือ เอกสาร ว.1 "รายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ประกอบพาณิชยกรรม" คึอ การประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ทั่วๆ ไป เอกสารของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เขียนวัตถุประสงค์รวมๆ มาให้ / มี 22 ข้อ / เช่น ประกอบกิจการค้าข้าว ค้าผัก ผลไม้ วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ โดยกิจการหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ สื่อมวลชน อยู่ในข้อ 17 ซึ่งเป็นข้อเดียวกับการประกอบกิจการค้ากระดาษ แบบเรียน เครื่องเขียน จะเห็นได้ว่าเขาเขียนไว้ครอบจักรวาล

โดยมากทนายที่ปรึกษาการเปิดบริษัท จะแนะนำให้ผู้ที่จะก่อตั้งบริษัทแจ้งวัตถุประสงค์ให้ครอบจักรวาลเอาไว้ก่อน เพื่อที่ว่าในอนาคตจะได้ไม่ต้องขออนุญาตเพิ่มเติมอีก (ซึ่งต้องแก้บริคณห์สนธิ ต้องมีการประชุมกรรมการบริษัท ขั้นตอนยุ่งยาก)

ฉะนั้นเวลาเขายื่นจดทะเบียนตั้งบริษัทกันจริงๆ ก็จะยื่นเอกสาร ว.1 คือวัตถุประสงค์รวมๆ แนบไปด้วย แล้วก็จะมีเอกสาร ว.เฉยๆ คือวัตถุประสงค์ที่เราจะทำจริงๆ เขียนเพิ่มเข้าไป เป็นข้อ 23-24-25 ว่าไป

จุดนี้เองทำให้มีการตีความจากผู้สมัคร ส.ส.หลายคนว่า หากกิจการที่ตนประกอบการจริงๆ ไม่ได้เป็นกิจการสื่อสารมวลชน ก็ไม่ต้องโอนหรือขายหุ้นให้บุคคลอื่น ยังสามารถถือครองหุ้นต่อไปได้ เพราะถ้ายึดเอาเฉพาะวัตถุประสงค์รวมๆ ตามเอกสารของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็จะเข้าข่ายถือหุ้นสื่อแทบจะทุกราย (เฉพาะที่ยื่นประกอบกิจการพาณิชยกรรมนะ ถ้าเป็นกิจการบริการ อุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ก็จะไม่มีวัตถุประสงค์เรื่องทำสื่อ)

ประเด็นนี้ทำให้หลายฝ่าย เช่น คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องให้ศาลหรือองค์กรอิสระที่รับผิดชอบ วางบรรทัดฐานให้ชัดเจนว่า การถือครองหุ้นกิจการสื่อสารมวลชน ต้องเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อสารมวลชนจริงๆ เท่านั้นหรือไม่ หรีอจะพิจารณาเฉพาะจาก "บริคณห์สนธิ" หรือ "เอกสารการก่อตั้งบริษัท" แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้ายึดเฉพาะบริคณห์สนธิที่มีวัตถุประสงค์การประกอบกิจการแบบครอบจักรวาลเอาไว้ ก็น่าจะกระทบกับผู้สมัครจำนวนมาก

คุณผู้ชมดูเอกสารตัวอย่างของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บนหน้าจอไปพร้อมกัน บริคณห์สนธิฉบับนี้ เขียนวัตถุประสงค์ที่ประกอบกิจการเอาไว้ 24 ข้อ เป็นวัตถุประสงค์ทั่วๆ ไปตามแบบฟอร์มของราชการ 22 ข้อ และอีก 2 ข้อเขียนเพิ่มเข้าไป รวมเป็น 24 ข้อ พูดง่ายๆ คือถ้าจดทะเบียนประกอบกิจการธุรกิจประเภทพาณิชยกรรม แล้วใช้เอกสารของทางการ จะมีวัตถุประสงค์ทำสื่อทุกกิจการ เมื่อความจริงเป็นแบบนี้ กระบวนการตรวจสอบต้องทำอย่างไร

เราได้สอบถามความเห็นเรื่องนี้กับอดีตผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ท่านยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ให้คำตอบยากอยู่เหมือนกัน ต้องดูว่าความผิดฐานนี้ต้องมีเจตนาหรือเปล่า เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือป้องกันผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้สื่อเป็นเครื่องมือ หรือครอบงำสื่อเพื่อสร้างความนิยมให้ตัวเอง ฉะนั้นถ้าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนไว้เฉยๆ แต่ยังไม่ได้ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน แม้จะระบุวัตถุประสงค์ในบริคณห์สนธิ ก็น่าจะยังไม่มีเจตนาใช้สื่อเป็นเครื่องมือ เพราะยังไม่ได้ทำจริงๆ

แต่อีกด้านหนึ่งก็เกิดคำถามได้เหมือนกันว่า ถ้าไม่ยึดตามบริคณห์สนธิ แล้วจะให้ยึดตามอะไร เพราะการจดทะเบียนตั้งบริษัทด้วยวัตถุประสงค์ครอบจักรวาล ก็อาจมองได้ว่าผู้ขอจดแจ้งตั้งบริษัท มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ตั้งแต่แรก ตีขลุมเผื่อไว้ก่อนเพื่อความสะดวกสบายของตนเอง ถ้าแบบนี้ การผ่อนปรนก็อาจจะเข้าทางพวกหัวหมอ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการ ยื่นจดทะเบียนเอง น่าจะมีความเสี่ยงว่าผิดมากกว่าคนที่ไปซื้อหุ้นต่อมา เพราะคนที่ซื้อต่อ อาจไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วบริษัทจดแจ้งวัตถุประสงค์อะไรไว้บ้าง แต่ตัวคนก่อตั้ง หรือเจ้าของกิจการเอง ต้องทราบแน่ๆ

ประเด็นนี้ถือว่าอ่อนไหว และต้องรอองค์กรที่เกี่ยวข้องชี้ขาดเพื่อวางมาตรฐาน เหมือนกับกรณีหุ้นของคุณธนาธร คำวินิจฉัยของ กกต. และศาลฎีกา (กรณีมีการยื่นเรื่องให้ศาล) จะกลายเป็นบรรทัดฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 ว่า การโอนหุ้นเพื่อยืนยันคุณสมบัติการสมัครรับเลือกตั้งนั้น แค่ทำเอกสารโอนกันเฉยๆ มีพยาน 1 คน และจ่ายเงินกันครบก็จบแล้ว (คล้ายๆ โอนลอย) หรือว่าจะยึดหลักฐานการลงเล่มในสมุดทะเบียนบริษัทและการจดแจ้งกับทางกระทรวงพาณิชย์ ทั้งหมดนี้ต้องรอดู

logoline