svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผ่าวงจรหนี้ดอกโหด-สูงสุดร้อยละ 300

29 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถานการณ์ "หนี้นอกระบบ" เป็นปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แก้อย่างไรก็แก้ไม่หมด เพราะมีความทับซ้อนกับระบบอุปถัมภ์และผู้มีอิทธิพล โดยมีความยากจนและความเดือดร้อนของประชาชนตาดำๆ เป็นเงื่อนไขให้เกิดการเอาเปรียบและก่อความเหลื่อมล้ำ เห็นได้จากคำสังที่ ผบ.ตร.กำชับมา ให้จัดการเครือข่ายหนี้นอกระบบ ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม เจอ "คนมีสี" ก็ห้ามละเว้น คนระดับ ผบ.ตร.พูดแบบนี้ ย่อมชัดเจนว่าขบวนการหนี้นอกระบบมีข้าราชการนอกแถวเกี่ยวข้อง



"ล่าความจริง" ชำแหละรูปแบบของ "เงินกู้นอกระบบ" โดยได้ข้อมูลจาก "ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม" สรุปว่า รูปแบบของเงินกู้นอกระบบ มี 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.เงินกู้ทั่วไป โดยผู้ให้กู้จะเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด คือร้อยละ 15 ต่อปี (อัตรานี้กฎหมายกำหนด แต่เรียกดอกเบี้ยกันจริงๆ สูงถึงร้อยละ 300 ต่อปี) เจ้าหนี้นอกระบบจะเป็นนายทุนระดับชุมชน พบได้ทั่วไปทั้งสังคมเมืองและชนบท วิธีการจะให้ผู้กู้เซ็นลอยสัญญากู้ หรือทำหนังสือมอบอำนาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือแม้แต่รถไถนา เมื่อผู้กู้ค้างชำระ เจ้าหนี้ก็ยึดทรัพย์สินเหล่านั้นไป และส่วนใหญ่ก็ไม่คุ้มกับเงินต้นและดอกเบี้ยที่คิดในอัตราสูงลิ่ว

เงินกู้รูปแบบแรกนี้ ต่อมาพัฒนาเป็น "เงินกู้รายวัน"หรือที่เรียกว่า "ดอกลอย" คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2-5 ต่อวัน มีแก๊งที่เรียกว่า "หมวกกันน็อค" มาเรียกเก็บดอกจากลูกหนี้เป็นรายวัน ถ้าไม่จ่ายก็จะรุมทำร้าย (ที่เรียกว่าแก๊งหมวกกันน็อค ก็เพราะพวกนี้จะขี่มอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อคตามทวงหนี้ รุมตีรุมทำร้าย กล้องวงจรปิดจับภาพได้ก็ตามไม่ถูกว่าเป็นใคร) หนักกว่านั้นคือดอกเบี้ยที่จ่ายจะไม่ตัดเงินต้น คือคิดดอกเบี้ยแยกต่างหาก ช่องทางเดียวที่จะหลุดหนี้ได้ คือต้องนำเงินต้นทั้งหมดมาชำระคืนในคราวเดียวเท่านั้น



รูปแบบต่อมาคือ เงินกู้แบบทบต้นทบดอก คือแม้การผ่อนชำระจะตัดทั้งต้นทั้งดอก แต่ดอกเบี้ยสูงมาก อยู่ในอัตราร้อยละ 20 ถึง 24 ต่อวัน วิธีการจ่ายดอก ไม่จ่ายเป็นรายวัน แต่ให้ชำระเป็นงวด เมื่อคิดสะระตะแล้ว ดอกเบี้ยของเงินกู้ประเภทนี้สูงถึงร้อยละ 300 ต่อปี

และสดท้าย คือ รูปแบบเงินกู้นอกระบบที่เป็นการ "อำพรางการกู้ยืมเงิน" รู้จักกันดีในลักษณะ "เงินกู้ตามเสาไฟ" เพราะมีการติดประกาศให้กู้ตามเสาไฟฟ้าและตู้โทรศัพท์สาธารณะ รวมถึงตามสื่อสังคมออนไลน์ พวกนี้จะมีการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางการกู้เงินที่คิดดอกเบี้ยแบบผิดกฎหมาย เช่น ซื้อทอง หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่าง มีทั้งแบบได้ของไปจริงและไม่ได้ของ

"ล่าความจริง" ได้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า รูปแบบของเงินกู้นอกระบบในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาค จะมีความแตกต่างกันไป โดยเราได้สอบถามเรื่องนี้กับ พันตำรวจเอก ภาคภูมิ พิสมัย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นมือทำงานเกี่ยวกับการคดีคลายคดี "เงินกู้นอกระบบ" ที่รัฐบาล คสช.ให้ความสำคัญ พันตำรวจเอก ภาคภูมิ บอกว่า ปัจจุบันรูปแบบเงินกู้นอกระบบไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่จะมีวิธีการแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เช่น ภาคเหนือ จะนิยมใช้รูปแบบการจัดตั้งเป็นบริษัทลิสซิ่งต่างๆ และเปิดให้กู้เงิน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการเข้าไปจับกุมแล้ว 2 ครั้ง

ส่วนภาคอีสาน กลุ่มนายทุนจะใช้วิธีการหลอกให้ชาวบ้านนำโฉนดที่ดินมาจำนองในการกู้ยืมเงิน อย่างที่เราเห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ แต่จริงๆ แล้วทำเป็น "นิติกรรมอำพราง" นิยมทำเป็นสัญญาขายฝาก เปิดให้ไถ่คืนได้ แต่จริงๆ คือ "ขายขาด" ไถ่คืนไม่ได้

ขณะที่ภาคกลาง รูปแบบที่นิยมทำกันคือ "เงินกู้ตามเสาไฟ" ที่มีการติดประกาศให้กู้ตามเสาไฟฟ้าและตู้โทรศัพท์สาธารณะ รวมทั้งเงินกู้ตามสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเงินกู้แบบด่วน แต่ดอกโหด และมีเครือข่ายแก๊งหมวกกันน็อคคอยตามทวงหนี้

สรุปก็คืออย่าไปเป็นหนี้ดีที่สุด แต่ต้องบอกว่าเวลาเราพูดแบบนี้ ก็พูดง่าย เพราะไม่ได้เดือดร้อนเหมือนกับคนที่เดือดร้อน เรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร เวลาเดือดร้อน เลือดเขาตา ดอกเท่าไหร่ก็ยอม ทำให้เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบอยู่ได้ และสร้างปัญหาได้เรื่อยๆ ทางเดียวคือรัฐต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายและกว้างขวางขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเสริม ไม่ได้ดูจากสินทรัพย์ค้ำประกันเพียงอย่างเดียว

logoline