svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ห้ามถือหุ้นสื่อ" กฎเหล็กใน รธน.-กฎหมายลูก

29 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศึกตรวจสอบผู้สมัครและว่าที่ ส.ส.พรรคต่างๆ อาจถือครองหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนและหนังสือพิมพ์ในวันสมัครรับเลือกตั้ง จนอาจขาดคุณสมบัตินั้น ขณะนี้กำลังลุกลามไปในหลายพรรค ในลักษณะของการตอบโต้กันทางการเมือง ฝ่ายหนึ่งโดน อีกฝ่ายต้องโดนด้วย



จริงๆ แล้วความสำคัญของการถือครองหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน ก็คือเป็น "ลักษณะต้องห้ามของการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ซึ่งเป็นหลักการที่่วางไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งมานานแล้ว ไม่ได้เริ่มมีบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นครั้งแรก

โดยในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 บัญญัติไว้ในมาตรา 48 ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม และเขียนย้ำไว้ในมาตรา 265-268 ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ โดยระบุห้ามทั้ง ส.ส. , ส.ว. และรัฐมนตรี ถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน

แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ให้ผู้ที่จะต้องดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรี จัดการเรื่องหุ้นกิจการสื่อให้เรียบร้อยก่อนเข้าดำรงตำแหน่งเท่านั้น ไม่ได้ห้ามตั้งแต่ลงสมัคร ส.ส. และหาก "องค์กรตรวจสอบ" พบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใดยังมีหุ้นในกิจการสื่ออยู่ระหวางดำรงตำแหน่ง ก็จะเป็นเหตุให้ขาดจากสมาชิกภาพการดำรงตำแหน่ง โดยผู้ชี้ขาดคือศาลรัฐธรรมนูญ

จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้บัญญัติมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แล้ว

ส่วนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 2560 คือฉบับปัจจุบัน ยกระดับ "ลักษณะต้องห้ามการถือครองหุ้นสื่อ" เป็นลักษณะต้องห้ามตั้งแต่การสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. รวมทั้งสมัครรับการสรรหาเป็น ส.ว. และต้องห้ามสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย คือต้องห้ามถือหุ้นกิจการสื่อก่อนสมัครรับเลือกตั้งเลย โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ที่มาตรา 98(3) "ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ" และข้อความเดียวกันนี้ยังบัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42(3) ด้วย เป็นลักษณะต้องห้ามการสมัครรับเลือกตั้ง จึงต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนไปยื่นใบสมัคร

นอกจากนี้ ผู้ที่ฝ่าฝืนยังมีโทษด้วย บัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 คือรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัคร หรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัคร ส.ส. แต่ยังฝืนสมัคร มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลา 20 ปี

สาเหตุที่รัฐธรรมนูญต้องบัญญัติเรื่องนี้ เป็นไปตามหลักสากลเรื่องเสรีภาพสื่อ เพื่อไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเกี่ยวข้องทางการเมืองเข้าไปแทรกแซง ครอบงำสื่อมวลชนได้ เนื่องจากจะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในทางการเมืองได้มาก

นี่คือประเด็นข้อกฎหมายที่ "ล่าความจริง" นำมาเคลียร์ให้ฟังก่อน ว่าหลักการและกฎหมายนี้มีมานานแล้ว ไม่ได้เพิ่งมีเพื่อจ้องทำลายหรือสกัดใครเข้าสภา อันนี้ต้องเข้าใจตรงกันก่อน

logoline