svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ส่งออกอาหารทะลุ 1 ล้านล้าน เพิ่มขึ้น 4 ปีติด

25 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มูลค่าการส่งออกอาหารไทยทะลุ 1.14 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.43% เพิ่มขึ้น 4 ปีต่อเนื่อง โดยข้าวยังคงเป็นสินค้าเกษตรอาหารที่มียอดการส่งออกสูงสุด รองลงมาคือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ระบุ การส่งออกอาหารของไทยตั้งแต่ปี 2558 - 2561 ขยายตัวเฉลี่ยปีละประมาณ 3% โดยในปีที่ผ่านมายอดการส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่า 1,148,278 ล้านบาท ขยายตัว 1.43%
ส่วนสถานการณ์ปีนี้ พบว่าช่วงไตรมาสแรกยอดการส่งออกอาหารมีมูลค่า 275,119 ล้านบาท ขยายตัว 0.47% แบ่งเป็นสินค้ากลุ่มเกษตรอาหาร ซึ่งมีสัดส่วน 50.1% เมื่อเทียบกับการส่งออกอาหารทั้งหมด มีมูลค่าการส่งออก 137,818 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร สัดส่วน 49.9%

สินค้าเกษตรอาหารที่มีการส่งออกมากที่สุด พบว่าข้าวยังคงเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนการส่งออก 29% ของสินค้าเกษตรอาหารทั้งหมด มูลค่าการส่งออก 39,607 ล้านบาท รองลงมาคือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 19% มูลค่า 26,056 ล้านบาท ตามด้วยผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง 16% มูลค่า 22,730 ล้านบาท

ด้านสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีการส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป คิดเป็นสัดส่วน 21% ของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด มูลค่าการส่งออก 29,388 ล้านบาท รองลงมาคือผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป 13% มูลค่า 17,607 ล้านบาท ตามด้วยน้ำตาลทราย สัดส่วน 12% มูลค่า 16,540 ล้านบาท

ส่งออกอาหารทะลุ 1 ล้านล้าน เพิ่มขึ้น 4 ปีติด


สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมอาหาร คือ กลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ มีสัดส่วนการส่งออกถึง 35% ของการส่งออกอาหารแปรรูปทั้งหมด มีมูลค่าการส่งออก 47,552 ล้านบาท อันดับ 2 คือสหรัฐ สัดส่วน 14% มูลค่า 18,798 ล้านบาท และอันดับ 3 คือ ญี่ปุ่น สัดส่วน 11% มูลค่า 14,989 ล้านบาท
ส่วนปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจรวมทั้งการเติบโตและโอกาสของภาคอุตสาหกรรมอาหาร เช่น โอกาสของไทยในการเป็นประธาน ASEAN ประกอบกับการเมืองไทยเกิดความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและการลงทุน เกิดการเจรจาความตกลงด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการที่ EU ปลดล็อกใบเหลืองประมงไทย

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคทางการค้าของภาคอุตสาหกรรม เช่น ความผันผวนทางการเมืองระหว่างประเทศ และความยืดเยื้อของสงครามการค้า ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าลดลง รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และต้นทุนการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ

สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย 11 รายการ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่สินค้าไทยในกลุ่มดังกล่าวมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% ในสหรัฐ โดย 6 ใน 11 รายการเป็นสินค้าอาหาร ได้แก่ ทุเรียนสด, มะละกอตากแห้ง, มะขามตากแห้ง, ข้าวโพดปรุงแต่ง, ผลไม้/ถั่วแช่อิ่ม และมะละกอแปรรูป

logoline