svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เส้นทางคดีโอนหุ้น "ธนาธร" จุดจบอยู่ที่ใด?

22 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การโอนหุ้น "บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด" ของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กลายเป็นข้อสงสัยขึ้นมา เพราะคุณธนาธรอ้างหนังสือตราสารโอนหุ้น ระบุว่า โอนเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ขณะที่เอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่สื่อมวลชนบางสำนักนำมาเปิดเผย ระบุว่า มีการแจ้งโอนหุ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งเป็นวันหลังวันสมัครรับเลือกตั้ง คือ 4-8 กุมภาพันธ์ ไปแล้ว


ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) บัญญัติ ห้ามผู้สมัคร ส.ส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด

งานนี้ถือว่าซีเรียสไม่น้อยต่ออนาคตทางการเมืองของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เพราะในกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 เขียนเอาไว้ชัดว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม แต่ยังฝืนสมัคร ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี โทษขนาดนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป

ปัญหาของคุณธนาธรก็คือ ที่อ้างว่าโอนหุ้นวันที่ 8 มกราคมนั้น เจ้าตัวพูดไม่ชัดว่าวันนั้นอยู่ที่ไหนกันแน่ เพราะการโอนหุ้นอ้างว่าเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ต่อหน้าพยาน 2 คน และทนายโนตารี ซึ่งหมายถึงทนายผู้รับรองเอกสาร แต่เมื่อสื่อมวลชนตรวจสอบข่าวย้อนกลับไป พบว่าในวันที่ 8 มกราคม คุณธนาธรหาเสียงอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ขณะที่วันก่อนหน้านั้นก็หาเสียงอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์

ล่าสุด อาจารย์ปิยบุตร เลขาธิการพรรค ออกมาชี้แจงแทนหัวหน้าว่า วันที่ 8 มกราคม หาเสียงอยู่บุรีรัมย์จริง แต่ออกจากบุรีรัมย์กลับกรุงเทพฯในช่วงบ่าย เพื่อลงนามในเอกสารโอนหุ้น

เงื่อนงำทั้งหมดนี้ (ก่อนการชี้แจงล่าสุดของอาจารย์ปิยบุตร) ถูกเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย คุณศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม

จากนั้นวันที่ 4 เมษายน กกต.ชุดใหญ่ประชุมกัน และเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อช่วยตรวจสอบสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวน โดยคณะกรรมการชุดนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกรวม 7 คน มี คุณวินัย ดำรงค์มงคลกุล อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นประธาน

ที่ผ่านมาคณะกรรมการช่วยตรวจสอบฯ ได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ส่งหนังสือขอเอกสารหลักฐานไปยัง บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำมาประกอบสำนวน โดยมีรายงานว่าคณะกรรมการช่วยตรวจสอบฯ ได้ประชุมกันในวันนี้ คาดว่าจะสามารถสรุปผลการตรวจสอบเบื้องต้นได้ และจะเสนอมติไปที่ กกต.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาต่อไปในการประชุมวันที่ 23 เมษายน หาก กกต.เห็นว่ามีมูล ก็จะส่งหนังสือให้นายธราธรชี้แจงข้อกล่าวหา

ขณะเดียวกันก็มีข่าวบางกระแสว่า กกต.ชุดใหญ่ได้รับรายงานสรุปผลการตรวจสอบของคณะกรรมการช่วยตรวจสอบฯ ชุดของคุณวินัย ดำรงค์มงคลกุล แล้ว และเห็นว่ามีมูล จึงเตรียมแจ้งให้คุณธนาธรส่งคำชี้แจง (เฉพาะเรื่องนี้ ฝ่ายกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นเอกสารคำชี้แจงเรียบร้อยแล้ว ในวันเดียวกันนี้เลย)

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า กกต.จะเร่งสอบสวนกรณีการโอนหุ้นของคุณธนาธรให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งกำหนดไว้ว่าเป็นวันประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งหากดำเนินการไม่ทัน กกต.อาจใช้อำนาจไม่ประกาศรับรองคุณธนาธรเป็น ส.ส.เอาไว้ก่อน (เรียกว่า "แขวน") ส่วนจะถึงขั้นแจก "ใบส้ม" เพื่อระงับสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งชั่้วคราวหรือไม่ จะพิจารณาตามความเหมาะสมอีกครั้ง และหาก กกต.เห็นว่าคุณธนาธรมีความผิดจริง ก็จะต้องส่งเรื่่องให้ศาลวินิจฉัย ซึ่งหากศาลเห็นด้วยกับ กกต. ก็มีโอกาสที่จะลงโทษจำคุก และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลาถึง 20 ปีเลยทีเดียว

เส้นทางคดีโอนหุ้น "ธนาธร" จุดจบอยู่ที่ใด?


จุดหักเหสำคัญของประเด็นนี้ อยู่ที่การตีความกฎหมายว่าการโอนหุ้นให้มีผลจริงๆ ในทางกฎหมาย จะยึดเอาวันใดเป็นหลัก ซึ่งมี 2 คำตอบให้เลือก คือ

1. ยึดถือวันที่มีการโอนกันจริงตามอ้าง คือ วันที่ 8 มกราคม 2562 (ถ้าเชื่อว่ามีการโอนกันจริง ไม่มีทำเอกสารย้อนหลัง)

หรือ 2. ยึดวันที่บริษัทแจ้งต่อนายทะเบียน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งก็คือวันที่ 21 มีนาคม 2562 หลังจากสมัครรับเลือกตั้งไปแล้ว


กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง และต้องถูกนำมาตีความในเรื่องนี้ก็คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 สรุปสาระสำคัญก็คือ

- หุ้นนั้นโอนกันได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท (ยกเว้นมีกำหนดเป็นอย่างอื่น)

- การโอนหุ้น ให้ทำเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยาน 1 คนเป็นอย่างน้อย พร้อมระบุหมายเลขหุ้นที่โอนกันนั้นด้วย / ทำแค่นี้ จ่ายเงินชำระค่าหุ้นกัน การโอนหุ้นก็สำเร็จเรียบร้อยแล้ว

- แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ มีการระบุในกฎหมายวรรค 3 ว่า การโอนหุ้นแบบที่ว่า จะนํามาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งหมายถึงสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นที่บริษัท และแจ้งต่อนายทะเบียน กระทรวงพาณิชย์

พูดง่ายๆ ก็คือ การโอนหุ้น แค่ทำเป็นหนังสือ ลงชื่อ มีพยาน ก็มีผลสมบูรณ์ แต่จะเอาไปยันกับคนภายนอกได้ ต้องแจ้งต่อนายทะเบียน

ปัญหาที่ต้องรอฟังคำวินิจฉัยก็คือ กกต.หรือศาล จะยึดเอาวันโอนหุ้น 8 มกราฯ ว่ามีผลแล้ว ถือว่าคุณธนาธรไม่ได้ถือหุ้นแล้วในเชิงพฤตินัย หรือจะยึดเอาวันแจ้งนายทะเบียน เพราะงานนี้เป็นเรื่องคุณสมบัติการลงสมัคร ส.ส. ถ้าไม่ยึดตามที่แจ้งนายทะเบียน กกต.จะทราบได้อย่างไร และมีหลักฐานอะไรมายืนยัน

ทุกฝ่ายทั้งกองเชียร์ กองแช่ง คงต้องรอลุ้นผลไปพร้อมกันกับคุณธนาธร

logoline