svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เมาขับ = เจตนาฆ่า...แก้ปัญหาได้จริงหรือ?

17 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มาตรการใหม่ที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ปีนี้ พุ่งไปที่พวก "เมาแล้วขับ" ไปชนผู้อื่นจนเสียชีวิต โดยรัฐบาลมีนโยบายให้ตำรวจตั้งข้อหา "เจตนาฆ่า" ถ้าบาดเจ็บสาหัสก็ตั้งข้อหา "พยายามฆ่า" โดยใช้ช่องทางตามประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนของ "เจตนาเล็งเห็นผล" จุดประสงค์ก็เพื่อเพื่อเพิ่มโทษให้กับผู้กระทำความผิด ไม่ติดเงื่อนไขลดโทษจนศาลสามารถใช้ดุลยพินิจ "รอลงอาญา" จนไม่ต้องติดคุกจริง ทั้งๆ ที่ทำให้คนตาย

งานนี้เป็นนโยบายของ "พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ - บิ๊กป้อม" พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จึงมีการเน้นย้ำเป็นพิเศษ ถึงขนาดส่งหนังสือเวียนไปถึงตำรวจทุกโรงพักทั่วปรทเศ กำชับเรื่องวิธีการสอบสวน ทำสำนวนคดี เมื่อพบความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ที่สำคัญคือหากว่าเจอพวกเมาแล้วขับไปชนคนตายในลักษณะ "เจตนาเล็งเห็นผล" ให้ตั้งข้อหา "ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา" แต่ถ้าไม่ถึงตายก็ตั้งข้อหา "พยายามฆ่า" รับโทษ 2 ใน 3 ของเจตนาฆ่า
เหตุผลที่ต้องการให้พนักงานสอบสวนระบุข้อหาให้ชัดและละเอียดมากที่สุด ก็เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุขับรถชนคนตาย ส่วนมากก็จะเจอคำที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า "ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย" ซึ่งโทษสูงสุดที่กฎหมายกำหนด คือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี แต่เมื่อคนผิดยอมรับสารภาพ ศาลก็ต้องลดโทษให้กึ่งหนึ่งโดยอัตโนมัติ เหลือโทษจำคุก 5 ปี ก็จะเข้าเงื่อนไขรอลงอาญาได้ ไม่ติดคุกจริง ส่งผลให้คนใช้รถใช้ถนนไม่กลัวความผิด หรือคนที่เคยทำผิดก็ไม่เข็ด ไม่หลาบจำ
แม้ที่ผ่านมาจะมีการแก้ไขเพิ่มโทษพวก "เมาแล้วขับ" เป็นความผิดเฉพาะในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ในมาตรา 43 (2) ประกอบมาตรา "160 ตรี" ให้มีโทษจำคุก 3-10 ปี แต่การกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำเอาไว้ ทำให้ข้อหานี้ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก ผู้กระทำผิดมีโอกาสรับโทษน้อยกว่าโดนข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ด้วยซ้ำไป
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงมีไอเดียให้ความผิดฐาน "เมาแล้วขับ" จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องบรรยายพฤติการณ์ว่า "ไม่ใช่ประมาท" แต่เป็น "เจตนาเล็งเห็นผล"
ปัญหาก็คือ คำว่า "เจตนาเล็งเห็นผล" ต้องมีเจตนาทำให้ผู้อื่นตายเสียก่อน แต่การขับรถขณะเมาเพื่อกลับบ้านหรือไปดื่มต่อ จะพิสูจน์เจตนาผู้กระทำได้อย่างไรว่าเขา "เจตนาฆ่า" เพราะจริงๆ เขาไม่ได้มีเจตนาฆ่า แต่เขาประมาท ซึ่งหมายถึง "ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้พอสมควรแก่เหตุ" และตัวผู้กระทำหรือทรัพย์สินของผู้กระทำเองก็ได้รับความเสียหายด้วย

และนี่เองที่น่าจะเป็นเหตุผลของศาลจังหวัดตลิ่งชันที่ไม่รับฝากขัง "เสี่ยเบนซ์" ในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา ในคดีขับรถพุ่งชนครอบครัวรองผู้กำกับฯกองปราบ จนเสียชีวิต
ข้อสังเกตเรื่องการพิสูจน์เจตนาที่แท้จริงนี้เองที่สอดคล้องกับความเห็นของ "ตำรวจนักปฏิรูป" พันตำรวจเอก วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการสอบสวนของตำรวจมาตลอด โดย พ.ต.อ.วิรุตม์ บอกกับ "ล่าความจริง" ว่า หากพนักงานสอบสวนดำเนินการตามนโยบายนี้ เท่ากับเป็นการ "แจ้งข้อหาเกินข้อเท็จจริง" เสี่ยงถูกดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญาหนักขึ้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 (ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม)
พันตำรวจเอก วิรุตม์ บอกอีกว่า กฎหมายของบ้านเรา เมื่อขับรถชนคนบาดเจ็บทั้งสาหัสไม่สาหัส หรือขับรถชนคนตาย จริงๆ แล้วมีโทษจำคุกทั้งสิ้น ถ้าตายก็โทษจำคุกถึง 10 ปี แต่ปัญหาคือถ้าผู้กระทำผิดมีเงินจ่ายผู้เสียหาย และจ่ายตำรวจจนพอใจ ก็จะล้มคดีได้ทั้งเจ็บทั้งตาย ไม่ต้องทำสำนวน หรือทำสำนวนอ่อนให้อัยการ "สั่งไม่ฟ้อง" ปัญหาที่แท้จริงจึงอยู่ตรงที่คดีอาญาในประเทศไทย "เคลียร์ได้" ไม่ใช่ปัญหาเรื่องโทษจำคุกน้อยเกินไป
นี่คือข้อสังเกตจากมาตรการของรัฐบาลที่ชี้นำให้ตำรวจตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนากับพวก "เมาแล้วขับ" ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะเป็นการตั้งข้อหาเกินข้อเท็จจริง ฉะนั้นทางที่ถูกคือไปแก้กฎหมายเพิ่มฐานความผิด "เมาแล้วขับ" ให้เป็นความผิดเฉพาะ และกำหนดอัตราโทษที่เหมาะสม เพื่อให้คนกลัว และหลาบจำจะดีกว่า
หรือถ้าไม่อยากยุ่งยากแก้ไขกฎหมาย หรือมองว่าโทษที่มีอยู่ก็เหมาะสมอยู่แล้วตามที่ พันตำรวจเอก วิรุตม์ บอกเอาไว้ และสังคมเห็นพ้องต้องกันว่าพวกเมาแล้วขับเป็น "ภัยสังคม" ศาลยุติธรรมก็อาจมีนโยบายในเรื่องนี้ ด้วยการไม่รอลงอาญากับพวกเมาแล้วขับที่มีพฤติการณ์เสียงอันตราย ไร้สำนึก หรือกระทำผิดซ้ำซาก ซึ่งสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย คนกลุ่มนี้ก็จะต้องติดคุกจริง และน่าจะสร้างความหวาดกลัวให้กับพวกที่คิดจะเอาแล้วขับรถได้พอสมควร เหมือนกับกรณีที่เคยมีนโยบายไม่ให้ประกัน และไม่รอลงอาญา ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีค้ายาเสพติดนั่นเอง

logoline