svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

บัวแก้วเชิญ จนท.ทูตเคลียร์ปมร่วมวง "ธนาธร"

08 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกหนึ่งข่าวใหญ่ช่วงวันหยุดยาว 3 วัน ก็คือข่าวการเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งก็มีองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนสากลออกมาแสดงความกังวล โดยเฉพาะการดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งอาจต้องขึ้นศาลทหาร นั่นคือด้านขององค์กรสิทธิ์ฯ แต่ก็มีความเคลื่อนไหวจากอีกด้านหนึ่งที่มีหลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อท่าทีของสถานทูตต่างประเทศ ที่มีเจ้าหน้าที่ทูตไปสังเกตการณ์ช่วงที่คุณธนาธรรับหมายเรียก เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ คุณบุษฎี สันติพิทักษ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในเรื่องนี้ว่า ทางกระทรวงฯได้ติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด เพราะมีหลายภาคส่วนแสดงความวิตกกังวลมายังกระทรวงการต่างประเทศ จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่าคณะทูตและผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศที่ไปปรากฏตัวที่ สน.ปทุมวัน ในวันนั้น เป็นเพราะได้รับเชิญจากคุณธนาธรเอง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะชี้แจงข้อเท็จจริงกับคณะทูตต่อไป
"ล่าความจริง" ย้อนตรวจสอบการรายงานข่าวของสื่อมวลชนเมื่อวันเสาร์ พบว่าเจ้าหน้าที่สถานทูตที่ไปสังเกตการณ์การเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของคุณธนาธร มีมากถึง 12 คน เป็นผู้แทนจากสถานทูตหลายประเทศ ส่วนใหญ่มาจากฝั่งยุโรป ขณะที่สื่อบางแขนงรายงานด้วยว่าเจ้าหน้าที่ทูตเหล่านี้เข้ารับฟังการสอบสวนด้วย แต่ไม่มีคำยืนยันจากผู้รับผิดชอบว่าเป็นความจริงหรือไม่ ส่วนสื่ออีกบางแขนงก็รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทูตเหล่านี้เดินทางไปให้กำลังใจและติดตามการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมไทย
ดอกเตอร์ นพนันท์ อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เชี่้ยวชาญด้านความสัมพันธ์ไทย-จีน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คว่า รู้สึกเจ็บปวดกับท่าทีของเจ้าหน้าที่ทูตต่างประเทศ เพราะถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทยอย่างชัดเจน และน่าจะขัดต่ออนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย จึงรู้สึกผิดหวังกับกระทรวงการต่างประเทศที่แสดงท่าทีเพียงว่า "จะชี้แจงทำความเข้าใจ" กับคณะทูตของประเทศเหล่านั้น
ดอกเตอร์ นพนันท์ ยังโพสต์เฟซบุ๊คเพิ่มเติมเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์ประณามว่า เจ้าหน้าที่ทูตเหล่านั้นแทรกแซงกิจการภายในของไทย และเรียกทูตมาพบเพื่อยื่นหนังสือประท้วง หรือประกาศให้เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา สามารถขับไล่ออกนอกประเทศก็ได้ เพราะถ้าปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ต่อไป ย่อมเท่ากับไทยเสียอธิปไตยทางการทูต
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะนักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บอกกับ "ล่าความจริง" ว่า เรื่องนี้ต้องมอง 3 ประเด็น คือ
หนึ่ง เรื่องมารยาท ซึ่งโดยมารยาททางการทูตปกติ หากเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องการไปสังเกตการณ์เรื่องใด ก็ควรแจ้งกระทรวงการต่างประเทศของไทยในฐานะเจ้าบ้าน ซึ่งการแจ้ง ไม่ใช่การขออนุญาต แต่เป็นการแจ้งเพื่อทราบ และเปิดให้กระทรวงการต่างประเทศให้คำแนะนำ ซึ่งที่ผ่านมาหลายๆ เรื่องก็ต้องทำเช่นนี้ ตัวอย่างเช่น การจะลงไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องแจ้งกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นทางกระทรวงจะให้คำแนะนำว่าไปอย่างไรถึงจะปลอดภัย และพื้นที่ไหนที่ฝ่ายความมั่นคงอาจจะไม่อนุญาตให้เข้าไป นี่คือมารยาททางการทูต ซึ่งการเสียมารยาทบ่อยๆ คงไม่ดีนัก
สอง เป็นเรื่่องผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ หลายกรณีเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็ทำไปเพราะคิดว่าจะทำให้ประเทศของตนได้ประโยชน์ ก็จะพาตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อแสดงว่าประเทศของตนมีจุดยืนอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การเคารพสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาก็มีความเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่ทูตจะดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพราะเห็นว่าเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของชาติตน และเรื่องที่ทำสำคัญกว่าการแสดงมารยาท
และสาม เรื่องเกี่ยวกับคดีอาญา หรือคดีการเมือง หากเจ้าหน้าที่ทูตต่างประเทศเข้าไปเกี่ยวข้อง จะทำให้คนในประเทศไม่พอใจได้ โดยเฉพาะการถูกมองว่าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและกาเรมือง เรื่องแบบนี้ถือว่าขัดหลักสำคัญของนานาชาติ เป็นการกดดันกระบวนการยุติธรรมในประเทศนั้นๆ ซึ่งไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และที่ผ่านมาหลายประเทศก็ไม่ยินยอม เช่น ประเทศในละตินอเมริกา จะมีการลดทอนสัมพันธ์ หรือเรียกร้องให้รับผิดชอบ
อาจารย์ปณิธาน บอกด้วยว่า ภายในสัปดาห์นี้ กระทรวงการต่างประเทศจะเชิญเจ้าหน้าที่ทูตจากประเทศเหล่านั้นมาชี้แจงทำความเข้าใจ เพื่อวางแนวปฏิบัติในการทำงานร่วมกันให้ดีขึ้นต่อไป ซึ่งหากยังไม่เป็นผล ก็อาจจะมีมาตรการทางการทูตเพิ่มขึ้นไปอีก เช่น เชิญเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่านั้นมาตักเตือน ไปจนถึงลดความสัมพันธ์ แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คงไปไม่ถึงขนาดนั้น
ประเด็นที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยและต้องการคำตอบก็คือ เจ้าหน้าที่ทูตเหล่านี้ไป สน.ปทุมวัน ในฐานะอะไร ไปสังเกตการณ์ในนามส่วนตัว หรือไปอย่างเป็นทางการ สถานทูตเห็นดีเห็นงามด้วย เพราะคำตอบนี้จะทำให้กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทยกำหนดท่าทีที่ถูกต้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป


คสช.โต้แอมเนสตี้ไม่เคยใช้ ก.ม.ปิดปากใคร
ทีมโฆษก คสช. ออกมาตอบโต้องค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนชื่อดัง โดยยืนยันว่าไม่เคยใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมปิดปากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนสากล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยยุติการใช้กระบวนทางกฎหมายปิดปากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง กรณีการดำเนินคดีกับหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมให้ คสช.ยุติการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารในทุกกรณี จากความเคลื่อนไหวของแอมเนสตี้ฯ ทำให้ทีมโฆษก คสช. พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง ระบุว่า แอมเนสตี้ฯน่าจะเข้าใจสับสน และแสดงท่าทีตามธรรมเนียมขององค์กรที่ได้รับข้อมูลมาแบบจำกัดไม่ต่างจากในอดีต เพราะการดำเนินการตามกฎหมายไม่น่าใช่การปิดหรือเปิดปากใคร เนื่องจากการแสดงความเห็นในเรื่องใดๆ ก็ยังทำได้ตามปกติ และได้รับสิทธิ์คุ้มครองตามหลักกฎหมายไม่ต่างจากการดำเนินคดีกับบุคคลอื่น เช่นเดียวกับการดำเนินคดีในศาลทหารก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผลการพิจารณาคดีที่ผ่านมาก็ไม่เคยพบข้อกังขาใดๆ

logoline