svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เมื่อไฟป่าลามการเมือง

03 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ล่าความจริง"วันนี้ เริ่มรายการกันที่ปัญหาหมอกควันและฝุ่นพิษในภาคเหนือ ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการเผาป่า สถานการณ์ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนยังเข้าขั้นวิกฤติ เจ้าหน้าที่ต้องเร่งเข้าไปดับไฟในจุดความร้อน หรือ "ฮอทสปอต" ที่ยังเหลืออยู่หลายร้อยจุด แต่สถานการณ์ไฟป่าที่กำลังร้อนเข้าขั้นโคม่า กลับถูกลากไปเชื่อมโยงกับเรื่องการเมือง หลังจาก "นายกฯลุงตู่" ลงพื้นที และคาดโทษผู้นำชุมชนที่ปล่อยให้เกิดไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบ จะต้องถูกปลดออก สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ถึงขึ้นเตรียมรวมตัวกันขอลาออกจากตำแหน่ง


นี่คือภาพที่ "อาสาสมัครดับไฟป่า" กำลังเร่งดับไฟป่าในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งดาวเทียมระบบเวียร์ ได้ตรวจจับจุดเกิดไฟป่าได้ 66 จุด คือ ที่อำเภอสบเมย 3 จุด , อำเภอแม่สะเรียง 56 จุด , อำเภอขุนยวม 1 จุด , อำเภอเมือง อำเภอปาย และอำเภอปางมะผ้า อีกอำเภอละ 2 จุด และยังพบจุดความร้อน หรือ ฮอทสปอต เพิ่มอีก 306 จุด
แต่ประเด็นที่ร้อนยิ่งกว่าไฟป่าที่ลุกลามอย่างต่อเนื่อง ก็คือ กรณีที่ "บิ๊กตู่" พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวานนี้ พร้อมสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา และเข้าไปตรวจสอบการทำงานของกำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนผู้นำชุมชนในพื้นที่ที่ยังเกิดปัญหา หากไม่แก้ไขก็ให้ลงโทษและปลดออกตามลำดับ รวมถึงให้ทำรายงานสรุปสถานการณ์ประจำวันเสนอตามสายงานด้วย ลองย้อนไปฟังเสียงท่านนายกฯเมื่อวาน ที่ทำให้เกิดความรู้สึกในหมู่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน
คำสั่งของ "บิ๊กตู่" ที่ให้ลดจุดฮอทสปอตให้ได้ภายใน 7 วัน หากหมู่บ้านใดปล่อยให้มีไฟป่าต้องสอบวินัยและไล่ออกทุกคนนั้น ทำให้มีกระแสจากกลุ่มผู้นำชุมชนในพื้นที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ เพราะพวกเขาเองก็พยายามแก้ไขปัญหาไฟป่าทุกปี แต่งบประมาณที่ตกถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้านไม่เพียงพอ ทำให้เกิดข้อสงสัยจากกำนันและผู้ใหญ่บ้านมาโดยตลอดว่า จังหวัดไม่ค่อยให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ แต่เล็งทุ่มงบไปที่การแก้ปัญหาปลายเหตุ ซึ่งทำให้ปัญหาไฟป่ารุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม และจะมีการเคลื่อนไหวรวมตัวกันลาออกจากตำแหน่งจำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
อีกหนึ่งประเด็นที่มีกระแสว่า อาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดี ลอบเผาป่าเพื่อให้เกิดควันไฟและฝุ่นพิษ หวังดิสเครดิตรัฐบาลนั้น เรื่องนี้เป็นข้อมูลมาจากนายทหารระดับสูงของกองทัพภาคที่ 3 แต่เมื่อนักข่าวไปถาม "นายกฯลุงตู่" ก็ไม่ได้แสดงท่าทีตอบรับชัดเจนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง ได้แต่กำชับให้จัดการ หากพบว่ามีคนลอบเผาป่า
สอดคล้องกับรองผบ.ตร. พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ที่ออกมาบอกก่อนหน้านี้ว่า ตำรวจสามารถจับกุมตัวผู้กระทำความผิดฐานเผาป่าได้ทั้งสิ้น 230 ราย ซึ่งจำนวนผู้กระทำความผิดเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนข่าวลือที่อ้างว่ามีกลุ่มคนลักลอบเผาป่าเพื่อหวังลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่พบพฤติกรรมตามที่เป็นข่าว แต่ก็ได้สั่งการให้ตำรวจทุกกองบัญชาการเฝ้าติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
อีกด้านหนึ่งเป็นมุมมองจากผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณธารา บัวคำศรี ที่บอกว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ จริงๆ แล้วไม่ควรเกิดไฟป่าหนักขนาดนี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา แต่ไฟป่ามักเกิดกับป่าเต็งรังมากกว่า
ฉะนั้นสาเหตุหลักของไฟป่าอาจเกิดจากมาตรการของภาครัฐที่เข้มข้น ผลักดันให้ชุมชนที่เคยดูแลป่าออกไปจากพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่ จึงอาจเป็นการลดการป้องกันไฟป่าไปในตัว รวมถึงเจ้าหน้าที่ก็มีจำนวนไม่เพยงพอในการป้องกันไฟป่าได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากการจัดการทรัพยากรระหว่างรัฐกับประชาชนที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรม อาจทำให้เกิดความโกรธแค้นขึ้นโดยไม่รู้ตัว บางพื้นที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ปลูกรีสอร์ทรุกล้ำเขตป่า และถูกเจ้าหน้าที่รื้อถอน ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของความโกรธแค้น และจุดไฟแกล้งเผาก็อาจจะเป็นไปได้
ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาล เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์มลพิษทางอากาศ รวม 5 ข้อ คือ ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน รัฐบาลควรยกระดับวิกฤตการณ์มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาระดับชาติ ขอให้รัฐบาลควรร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาป่าที่ส่งผลต่อปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทยตามกรอบข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดน ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันตนเองจากมลพิษที่เกิดขึ้น และสุดท้าย ประชาชนควรให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการติดตาม เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาตามความเหมาะสม

logoline