svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ของจริง "พท.-อนค." ส่อวืด

03 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกหนึ่งประเด็นคาใจที่เป็นเรื่องการเมืองเหมือนกัน ก็คือ "สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์" ซึ่งกลายเป็นปัญหา เพราะตัวเลขคาดการณ์ที่สื่อมวลชนทุกแขนงคำนวณออกมา ฝั่งพรรคเพื่อไทยกับพรรคอนาคตใหม่เขาออกมาโวยว่าไม่ถูกต้อง พรรคอนาคตใหม่ต้องได้มากกว่านี้ และพรรคเล็กที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,000 คะแนน ซึ่งเป็น "คะแนนโหวตที่คิดเป็น ส.ส.1 คน" จะต้องไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย


เมื่อวาน กกต.ออกมาชี้แจงทำนองว่ายังไม่มีสูตรคำนวณ และไม่เคยคิดสูตรมาก่อน เพราะเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมายเหมือนกัน (หมายถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง) พอ กกต.ชี้แจงแบบนี้ ก็ทำให้โดนวิจารณ์อย่างหนักว่าเลือกตั้งผ่านมาเป็นสัปดาห์แล้ว ยังไม่สูตรคำนวณ ส.ส.อีกหรือ
ล่าสุดวันนี้ กกต.จึงต้องขยับ เรียกประชุมคณะที่ปรึกษากฎหมาย พร้อมเชิญอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เข้าให้ข้อมูลวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วย
คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย มี นายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีตกรรมการการเลือกตั้งเป็นประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายหลายคน โดยที่ประชุมได้เชิญอดีต กกต.อีกคนหนึ่ง คือ คุณประพันธ์ นัยโกวิท ซึ่งเป็นอดีต กรธ.ด้วย เข้าให้ข้อมูล เพื่อให้ทราบถึงวิธีการคำนวณ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ตลอดจนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีบัญญัติวิธีการคำนวณเอาไว้
ภายหลังการประชุม คุณประพันธ์ ให้สัมภาษณ์เพื่อทำความเข้าใจกับสังคมใน 3 ประเด็น สรุปง่ายๆ ก็คือ
1.อำนาจในการคิดคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมี และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เป็นของ กกต. ตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 วรรคท้าย ที่ให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด
2.หลักคิดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งให้ทุกคะแนนที่ประชาชนออกเสียงมีความหมาย ไม่ถูกทิ้งเสียเปล่า
3.วิธีคิด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และตารางการคิด ไม่ได้เพิ่งมาคิดทำในขณะนี้ แต่มีการเสนอมาตั้งแต่ กกต.ชุดที่แล้ว และมีการเสนอไปที่ กรธ. จากนั้นก็เสนอต่อไปที่คณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ตารางคิดคำนวณ ส.ส.มีอยู่ที่รัฐสภา ไม่ได้เป็นความลับ และสามารถขอดูได้
สรุปก็คือสูตรคำนวณและตารางตัวอย่างการคิดคำนวณ มีอยู่แล้วที่รัฐสภา ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเพิ่งจะมาคิดกันหลังเลือกตั้ง แต่คิดมานานแล้ว และมีสูตรเดียว
สูตรคำนวณที่มีอยู่แล้วที่รัฐสภา คุณผู้ชมดูพร้อมกันบนหน้าจอนี้เลย เป็นเอกสารความยาว 30 หน้า แม้จะมีสูตรคิดสูตรเดียว แต่มีตัวอย่างแยกเป็นหลายกรณี ตามการคาดการณ์ผลคะแนนเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นสูตรที่ถอดมาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งมี 8 วงเล็บ และมาตรา 129
สำหรับสูตรคำนวณที่ตรงกับสถานการณ์ผลคะแนนเลือกตั้งในขณะนี้ อยู่ในหน้า 8 ถึงหน้า 18 ที่เรียกว่า overhang หมายถึง ส.ส.บัญชีรายชื่อเกินจำนวน เพราะบางพรรคการเมืองชนะเลือกตั้ง ส.ส.เขตมากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีที่พรรคตนจะได้รับ
สูตรคำนวณนี้บางส่วนเหมือนกับที่พรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่คิด สรุปง่ายๆ คือ ได้ตัวเลขคะแนนโหวตต่อ ส.ส.1 คนมา เท่ากับ 71,000 คะแนนเศษๆ วิธีของพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ก็คือ เอาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาเฉลี่ยให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ที่ได้จำนวน ส.ส.เขต น้อยกว่า ส.ส.พึงมี (กรณีนี้ก็คือทุกพรรคไม่รวมพรรคเพื่อไทย) โดยการเฉลี่ยคิดเป็นสัดส่วนเฉพาะในกลุ่มพรรคการเมืองที่มีโอกาสได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 ที่นั่งขึ้นไป นั่นก็คือพรรคที่ได้คะแนนเกิน 71,000 คะแนนเท่านั้น ซึ่งถ้าคิดแบบนี้จะทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส.รวมทั้ง 2 ระบบ อยู่ที่ 87-88 คน ตามที่เลขาธิการพรรค อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาอ้าง โดยพรรคที่ได้คะแนนโหวตทั้งประเทศต่ำกว่า 71,000 คะแนน จะไม่ได้ ส.ส.เลย (ซึ่งพรรคเหล่านี้มีหลายสิบพรรค คะแนนรวมๆ อยู่ที่ล้านกว่าคะแนน คะแนนนี้จะตกหายไปหมด)
แต่วิธีคำนวณของ กรธ.ตามเอกสาร คุณผู้ชมดูไปพร้อมกันเลย จะเห็นได้ว่ามีพรรคเล็กที่ได้คะแนน 3 หมื่นกว่า ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จากการลดสัดส่วนและปัดเศษตามสูตรบัญญัติไตรยางค์ด้วย (ดูข้อ 14) แสดงว่าวิธีคิดของ กรธ. ตรงกับที่สื่อมวลชนคิด คือเมื่อเกิดปรากฏการณ์ overhang การคิดสัดส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จะคิดคะแนนของพรรคเล็กทุกพรรครวมกัน ไม่ตัดที่ตัวเลข 71,000 ซึ่งหมายถึงคะแนนโหวตต่อ ส.ส. 1 คน
จุดนี้เองที่น่าจะตรงกับคำอธิบายของอดีต กรธ. อาจารย์ประพันธ์ นัยโกวิท ที่มาประชุมร่วมกับทีมที่ปรึกษา กกต.วันนี้ว่า สูตรคิดเป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และรูปแบบการเลือกตั้งแบบ "จัดสรรปันส่วนผสม" ที่คะแนนทุกคะแนนมีค่า ไม่ถูกทิ้งน้ำ

logoline