svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ดันวาระแห่งชาติ "แก้ฝุ่นภาคเหนือ"

27 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากปัญหาวิกฤติไฟป่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือช่วงนี้ ส่งผลกระทบรุนแรงสุขภาพประชาชน ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษเตรียมเสนอเข้าครม.แก้ปัญหาเร่งด่วน

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ให้ "การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง" เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่สูงเกินค่ามาตรฐานที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และปัญหาหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือที่กำลังรุนแรงอยู่ในขณะนี้ เป็นปัญหาสำคัญซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

ดันวาระแห่งชาติ "แก้ฝุ่นภาคเหนือ"


และเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา คพ.ได้จัดการประชุมร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง" พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งในพื้นที่ที่มีปัญหาและพื้นที่เสี่ยง โดยการควบคุมและลดการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดทั้งจากยานพาหนะ การเผาในที่โล่ง ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง รวมถึงหมอกควันข้ามแดน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการ



ล่าสุดพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมาย คพ. นำวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง" เข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และนำเข้าคณะรัฐมนตรีโดยเร่งด่วนต่อไป
นายประลอง กล่าวว่า โดยมาตรการและแนวทางการดำเนินงานแบ่งเป็นมาตรการในช่วงวิกฤต มาตรการระยะกลาง (2562-2564) และมาตรการระยะยาว (2565-2567) ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นการควบคุมมลพิษในช่วงวิกฤตในพื้นที่ที่มีปัญหา/พื้นที่เสี่ยงปัญหาฝุ่นละออง เช่น พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันภาคเหนือ เป็นต้น โดยใช้กลไกของระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ภายใต้ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย พ.ศ. 2550 มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการ เพื่อให้สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

ดันวาระแห่งชาติ "แก้ฝุ่นภาคเหนือ"

นายประลอง กล่าวอีกว่า มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) ซึ่งเป็นการควบคุมและลดการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด เช่นการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 พีพีแอ็ม ภายในปี 2566 บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ ยูโร 6 สำหรับทั้งรถขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ภายในปี 2566 ห้ามเผาในที่โล่ง เป็นต้น และ มาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไกในการบริหารจัดการ รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและกำหนดแนวทาง มาตรการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต เช่นขยายเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ การพิจารณาปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย

logoline