svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

(มีคลิป) "อ.เจษฎ์" ยกเจตนารมณ์ รธน.ใครมีสิทธิตั้งรัฐบาล

26 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เพื่อไทยอ้างว่า ได้ ส.ส.เขตมากที่สุด ก็ต้องความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ข้ออ้างเรื่องป๊อปปูลาร์โหวต ใช้ไม่ได้ ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาก็ใช้คะแนนอิเลคเทอรัล โหวต ซึ่งนับคะแนนตัวแทนจากแต่ละรัฐ คล้ายๆ ส.ส.ฉะนั้นแม้จะชนะป๊อปปูลาร์โหวต ก็ไม่ผล เพราะคนที่จะได้เป็นประธานาธิบดีคือผู้ที่ชนะอิเลคเทอรัล โหวต เท่านั้น

พอฝ่ายเพื่อไทยอ้างแบบนี้ พลังประชารัฐก็โต้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้น้ำหนักและเจตนารมณ์ที่เสียงประชาชนที่แท้จริง จึงต้องยึดคะแนน "ป๊อปปูลาร์โหวต" เพราะเป็นเสียงที่นำมาเป็นฐานคิดคำนวณจำนวน ส.ส.อีกที ที่สำคัญพรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.จากทุกภาค ส่วนเพื่อไทยส่ง ส.ส.แค่ 250 เขต ไม่ได้ครบทุกพื้นที่ และไม่มี ส.ส.ในภาคใต้ จึงไม่มีความชอบธรรมฟังเหตุของทั้ง 2 ขั้วไปแล้ว ไปฟังเหตุผลทางวิชาการจาก อ.เจษฎ์ กันบ้าง โดยบอกว่า จริงๆ แล้วเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ชัดๆ ว่าจะให้น้ำหนักกับป๊อปปูลาร์โหวต หรือคะแนนนิยม หรือให้ยึดจำนวน ส.ส.มากกว่ากัน และในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เขียนเอาไว้ด้วย ผิดกับสหรัฐอเมริกาที่เขียนไว้ชัดในรัฐธรรมนูญว่าให้ใช้อิเล็คเทรัล โหวต ส่วนการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ตามหลักสากลควรยึดจำนวนที่นั่ง ส.ส.เป็นหลักในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะคนที่ทำงานในสภาจริงๆ คือ ส.ส. หากใช้ป๊อปปูลาร์โหวตก็เถียงกันไม่จบ

พร้อมเน้นย้ำให้สังคมเข้าใจให้ตรงกันก็คือ พรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด มีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาลก่อน อันนี้เป็นหลักการ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตั้งรัฐบาลสำเร็จหรือเป็นรัฐบาลได้เสมอไป เพราะถ้ารวมเสียงข้างมากไม่ได้ ก็จะไม่ได้เป็นรัฐบาล ฉะนั้นสิ่งที่จะได้ คือสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลก่อนเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาของประวัติศาสตร์การเมืองไทยตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีมานี้ พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุด สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ทุกครั้ง ทำให้คนไทยเข้าใจว่าผู้ที่ได้เสียงมากที่สุดจะต้องเป็นรัฐบาลเสมอ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ แต่เป็นการ "ได้สิทธิ์ในการรวบรวมเสียงข้างมากก่อน" เท่านั้น หากรวมเสียงไม่ได้ ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล
แต่ในท่ามกลางกระแสที่ทั้ง 2 ขั้วชิงตั้งรัฐบาลจนประชาชนงุนงงสับสนไปหมดนี้ อ.เจษฎฺ์ บอกว่า ถ้าประเทศไทยคิดจะเปลี่ยนหลักการเป็นว่า ใครจะตั้งรัฐบาลแข่งกับใครก็ได้ ก็ต้องยึดหลักการนี้ตลอดไป เพื่อป้องกันความสับสนในอนาคต หมายถึงว่าเมื่อการเมืองเปลี่ยนโฉมไปเป็นแบบอื่น ก็ต้องยึดหลักเดียวกันนี้ด้วย ไม่ใช่เปลี่ยนหลักการไปเรื่อยๆ เพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

logoline