svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

(คลิปข่าว) 2 ขั้วเสียงก้ำกึ่ง... การเมืองส่อถึงทางตัน

25 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยังมีแนวโน้มการเมืองเล็กๆ อีก 1 แนวทางตามที่พรรคอนาคตใหม่เสนอ ก็คือการรวมเสียง ส.ส.ให้ได้เกิน 376 เสียงจาก 500 เสียง เพื่อโหวตนายกฯโดยไม่ต้องอาศัยเสียง ส.ว. ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เรียกว่า "ปิดสวิทช์ ส.ว." ซึ่งจากคะแนนอย่างไม่เป็นทางการปัจจุบัน ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป มีมากกว่า 376 เสียงแล้ว ถ้าทุกพรรคที่เหลือโหวตหนุนนายกฯจากพรรคการเมือง ก็จะตั้งรัฐบาลไปได้เลย คำถามคือ พรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคภูมิใจไทย 2 พรรคที่มีคะแนนเสียงประมาณ 100 เสียง จะเอาด้วยหรือไม่

จากสถานการณ์ของคะแนนเลือกตั้งที่ "ล่าความจริง" เล่าให้ฟังไปแล้ว หากเรามองข้ามช็อตไปที่การรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล จะพบปัญหาเสียงก้ำกึ่งกันอย่างมาก จนน่าเชื่อว่าถ้าแต่ละฝ่าย ซึ่งก็คือ 2 ขั้วการเมืองใหญ่ ได้แก่ ขั้วเพื่อไทย กับขั้วพลังประชารัฐ ไม่ยอมลดราวาศอกกัน ก็มีโอกาสสูงที่จะทำให้การเมืองถึงทางตัน เดินหน้าต่อด้วยการตั้งรัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้

จากตัวเลขผลคะแนนล่าสุดที่ กกต.ประกาศออกมา ระบุว่าเป็นการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 94% จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต ครบแล้ว 350 เขต แต่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ยังไม่ครบ คือคำนวณออกมาได้ 138 ที่นั่ง จาก 150 ที่นั่ง หายไป 12 ที่นั่ง ทำให้จำนวน ส.ส.รวมทั้งสภา 500 ที่นั่ง ประกาศอย่างไม่เป็นทางการได้เพียง 488 ที่นั่ง
หากเรานำคะแนนที่ยังไม่สะเด็ดน้ำนี้มารวมขั้วทางการเมือง จะพบว่า พรรคที่เรียกตัวเองว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" จะประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 135 เสียง พรรคอนาคตใหม่ 80 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 6 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง และพรรคเพื่อชาติ 5 เสียง รวมกันแล้วได้เสียงสนับสนุน 242 เสียง
ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งที่สนับสนุน "นายกฯลุงตู่" พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคที่ยังไม่ประกาศชัดเจนว่าอยู่ฝั่งประชาธิปไตย ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 117 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 53 เสียง พรรคภูมิใจไทย 51 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 11 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคพลังชาติไทย พรรคละ 1 เสียง หากพรรคกลุ่มนี้จับมือกันทั้งหมด จะรวมเสียงได้ 246 เสียง
จะเห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่มีฝ่ายใดได้เสียงเกิน 250 เสียง ต้องรอผลคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพิ่มเติมอีก 12 ที่นั่ง ให้ครบ 150 ที่นั่ง แต่ก็เชื่อว่าจะยังมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ดี เพราะรัฐบาลที่จะมีเสถียรภาพมั่นคง ต้องมีเสียง ส.ส.อย่างน้อย 280-300 เสียง ซึ่งหากไม่มีพรรคระดับ 50 เสียงเปลียนข้าง ก็แทบจะตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพไม่ได้เลย โดยพรรคที่มีจำนวน ส.ส.อยู่ในระดับ 50 เสียง มี 2 พรรค คือ ประชาธิปัตย์ กับ ภูมิใจไทย
ปัญหาก็คือ เอาแค่ความชอบธรรมว่าใครจะได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ก็หาข้อสรุปยากแล้ว เพราะพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนโหวตทั้งประเทศสูงกว่าเพื่อไทย แต่พรรคเพื่อไทยได้จำนวน ส.ส.เขตมากกว่าพรรคพลังประชารัฐ (ล่าสุดพรรคเพื่อไทยอ้างความชอบธรรมแล้วว่า พรรคที่ได้ ส.ส.เขตมากที่สุด คือพรรคที่ได้สิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคที่ชนะคะแนนโหวตทั้งประเทศ ที่เรียกว่า ป๊อปปูลาร์ โหวต ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เหมือนสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ป๊อปปูลาร์ โหวต น้อยกว่า แต่ได้เป็นประธานาธิบดี)
นอกจากนั้น การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องใช้เสียงสนับสนุนถึง 376 เสียง ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่มีฝ่ายไหนน่าจะรวมเสียงได้มากขนาดนั้น แม้จะมีการย้ายข้างของพรรคระดับ 50 เสียงก็ตาม ฉะนั้นจึงต้องพึ่งพาเสียง ส.ว. ทำให้ฝ่ายสนับสนุน "นายกฯลุงตู่" มีโอกาสมากกว่า เพราะ ส.ว.ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. แต่ปัญหาที่จะตามมาก็คือ แม้จะตั้งนายกฯได้ แต่การบริหารประเทศจะทำอย่างไร เนื่องจากเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่งแบบไม่เด็ดขาด ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างแน่นอน

logoline